กลุ่มหนุนยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อรัฐบาล ดัน “กิตติรัตน์” นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

11 พ.ย. 2567 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2567 | 05:32 น.

กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรม ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เชื่อคุณสมบัติพร้อม หวังช่วยพาบ้านเมืองผ่านวิกฤต

วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการกู้ยืมที่เป็นธรรม นำโดยนายวิฑูร ลี้ธีระนานนท์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือสนับสนุน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ

นายวิฑูร กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้นำรายชื่อของประชาชนที่มีการลงชื่อกว่า 15,000 ราย รวมตัวเป็นเสียงบริสุทธิ์ ที่ออกมาเสนอให้กับคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการ ธปท. ผ่านทางรัฐบาล โดยขอสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ 

 

กลุ่มหนุนยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อรัฐบาล ดัน “กิตติรัตน์” นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

 

ทั้งนี้เห็นว่า นายกิตติรัตน์ เป็นผู้มีความเหมาะสมทั้งคุณสมบัติ ประสบการณ์และความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ สามารถเข้ามาปรับปรุงและยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท. ให้ตอบโจทย์ประชาชน และเกิดการกู้ยืมที่เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ไม่ได้มีการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมามากกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งการออกมาสนับสนุนครั้งนี้นั้น เชื่อว่า นายกิตติรัตน์ จะช่วยพาบ้านเมืองและชีวิตประชาชนผ่านวิกฤตครั้งนี้

นายสมคิด กล่าวว่า ได้รับการประสานงานจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการนั่งประธานบอร์ด ธปท.ของนายกิตติรัตน์ ซึ่งเดิมทั้งสองฝ่ายจะเข้ามายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ล่าสุดกลุ่มคัดค้านนายกิตติรัตน์ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเองที่ ธปท.แล้วในช่วงเช้าของวันนี้ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังทั้งสองฝ่ายทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน

“วันนี้ได้สอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นได้รับคำยืนยันว่าจะดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จในวันนี้ โดยเรื่องนี้มีการยืดเยื้อมา 2 – 3 เดือนแล้ว ซึ่งตนเองจะนำเอาหนังสือและรายชื่อส่งต่อให้กับ ธปท.ต่อไป”

สำหรับสาระสำคัญของหนังสือสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ การสนับสนุน นายกิตติรัตน์ ณ ระนองให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.เพื่อปรับปรุงและยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท.ให้ตอบโจทย์ประชาชน และเกิดการกู้ยืมที่เป็นธรรมมากขึ้น

โดยเครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวน 15,000 รายจากทั่วประเทศดังที่ปรากฎรายชื่อในเอกสารแนบ สนับสนุนการสมัครเข้า ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท. ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ด้วยเล็งเห็นว่าท่านเป็นผู้มีความรู้และความสามารถ คุณสมบัติเพรียบพร้อม มีความติดดิน มีผลงานการช่วยเหลือประชาชนและสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ในหลายด้านทั้งด้านตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์ การเงินการคลัง การกีฬา การเกษตร และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ ธปท. ปรับปรุงการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินไทยให้ดีและเหมาะสมขึ้น ไม่ใช่สถาบันการเงินจะมุ่งเน้นแต่การสร้างผลกำไร แต่จำเป็นต้องให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าแนวปฏิบัติในหลายเรื่องจำเป็นต้องปรับปรุงให้เหมาะสม โดยส่วนที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ 

 

กลุ่มหนุนยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อรัฐบาล ดัน “กิตติรัตน์” นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

 

1.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในภาพรวมให้ลดลง ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดวิกฤติโควิด ถ้าพิจารณาสถาบันการเงิน 10 แห่งมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปี 2563 -66 กำไร 1.32 1.75  1.92 และ 2.26 แสนล้านบาท และ 9 เดือนของปี 2567 กำไร 1.9 แสนล้านบาท ทั้งปี 2567คาดว่ากำไรจะสูงกว่าในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกำไรจากดอกเบี้ย 

ดังนั้นในภาวะที่หนี้ครัวเรือนของประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศยังฟื้นตัวไม่ได้ดีนัก สถาบันการเงินสามารถที่จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่ลดภาระของประชาชน ซึ่งทำได้ในหลายจุด อาทิ หนี้ข้าราชการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิหักเงินเดือน (payroll credit) ในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง เช่น 

สหกรณ์ออมทรัพย์ทหารอากาศ 22 จาก 27 แห่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงจาก 6.25% ต่อปีเหลือ 4.75% ต่อปี สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกว่า 10 แห่งอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำกว่า 4.75% ต่อปี ตามที่รัฐบาลและกรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้เป้าว่าเหมาะสม สอดดคล้องความเสี่ยง 

แต่อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินคิดกับข้าราชการแทบยังไม่ปรับลดและยังอยู่สูงเกินความเสี่ยงมาก ในบรรดาที่ใช้สิทธิหักเงินเดือน สินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดคือ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ที่ MRR+5.5 = 7.45+5.5.5 = 12.945% ต่อปี ประชาชนอีกกลุ่มใหญ่ที่ควรจะได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลง คือ ประชาชนที่ประวัติการชำระหนี้ดีต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ผู้มีประวัติการชำระหนี้ดีไม่ได้รางวัลอะไรจากการเป็นคนดีมีวินัย 

ในเรื่องนี้ ธปท. สามารถดำเนินการเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ Regulator จะกำหนดให้เจ้าหนี้ต้อง quote อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ที่มีประวัติชำระหนี้ดีต่อเนื่อง 12 หรือ 24 เดือนเป็นต้น มาตรการนี้จะทำให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลงสอดคล้องกับความเสี่ยง (risk based pricing) ปัจจุบันเจ้าหนี้มักจะกำหนดให้ลูกหนี้ส่วนใหญ่ทั้งที่มีประวัติดีและไม่ดีให้ได้รับดอกเบี้ยเท่ากันที่อัตราเพดานสูงสุดของแต่ละประเภทสินเชื่อ

2. การคิดดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ค่างวดตามสัญญา โดยการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (กรณีที่ไม่แจ้งเจ้าหนี้) เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2563 ธปท. ได้แก้ไขเกณฑ์ว่าด้วยฐานที่ใช้คำนวณที่ให้คำนวณจากเงินต้นในค่างวดที่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น เดิมเจ้าหนี้จะใช้เงินต้นคงค้างทั้งหมดมาคำนวณแม้จะผิดนัดงวดเดียว นอกจากนั้นยังได้แก้ไขการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เจ้าหนี้จะปรับเพิ่มจากอัตราปกติไม่เกิน 3% ต่อปี 

การแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องทำให้ในปี 2564 มีการแก้ไข ปพพ ม. 224/1ข้อจำกัดของการแก้ไขครั้งนั้นคือจะใช้บังคับกับเฉพาะรายใหม่ที่เกิดหลังเกณฑ์มีผลใช้บังคับเท่านั้น กรณีที่เกิดก่อนหน้าปี 2563 ยังเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในชั้นบังคับคดี จึงเสนอรายละเอียดมาเพื่อแสดงพลังสนับสนุน