ความเคลื่อนไหวการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ หลังจากที่ได้เลื่อนการประชุมมาจากวันที่ 4 พฤศจิกายน ท่ามกลางแรงกดดันและการคัดค้านจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ล่าสุด เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม ได้นัดรวมตัวที่หน้า ธปท. ในเวลา 09.30 น. เพื่อยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 45,000 รายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อผ่านเครือข่ายต่างๆ คัดค้านการแทรกแซงจากการเมือง เพิ่มเติมจากรายชื่อ 29,000 รายที่ได้ยื่นไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่กลุ่มนักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม นำโดยอดีตผู้ว่าการ ธปท. 4 คน ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และดร.วิรไท สันติประภพ พร้อมด้วยนักวิชาการรวม 830 คน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน เรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกโดยคำนึงถึงหลักสากลของธนาคารกลางทั่วโลก
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แกนนำกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ให้สัมภาษณ์รายการ "เข้าเรื่อง" ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นถึงอำนาจสำคัญของบอร์ด ธปท. ที่มีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการสินทรัพย์และทุนสำรองเงินตรา รวมถึงการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
"ความกังวลไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่หลักการ ไม่ว่าจะเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ หากมีความสัมพันธ์แนบแน่นทางการเมือง และเคยแสดงเจตนาในการแทรกแซงความเป็นอิสระของ ธปท. ก็ไม่สมควรทั้งสิ้น เพราะหากการเมืองแทรกแซง ธปท.ได้ ย่อมมีคนได้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายทางการเงิน" รศ.ดร.เจิมศักดิ์กล่าว
สำหรับการประชุมในวันพรุ่งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ด 3 ราย ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการคลัง ส่วนนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการเสนอชื่อจาก ธปท.
ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหา 7 คน นำโดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง มีความเห็นแตกต่างกัน โดยมีเสียงสนับสนุนนายกิตติรัตน์ 3 ราย ได้แก่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร และนายอัชพร จารุจินดา ขณะที่มีผู้คัดค้านอย่างชัดเจน 2 ราย คือ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา และนายสุทธิพล ทวีชัยการ ส่วนอีก 2 ราย คือ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี และนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ยังลังเลหรือเป็นกลาง
ต้องจับตามว่าการเลือกตั้งประธานบอร์ดธปท.ครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกให้กรรมการคัดเลือกพิจารณาหรือไม่
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2567 กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อโต้แย้งที่ว่า ธปท. ไม่ควรมีความเป็นอิสระจากการเมืองเนื่องจากเคยทำผิดพลาดมาก่อน เช่น ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 โดยระบุว่า "การอ้างความผิดพลาดในอดีตเพื่อเข้าแทรกแซง ไม่เป็นเหตุและผลเพียงพอ เพราะการแทรกแซงโดยภาคการเมืองอาจก่อให้เกิดได้ทั้งผลดีและผลเสีย แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์จากประสบการณ์ทั่วโลกแสดงว่าการแทรกแซงมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างเทียบไม่ได้"
ย้อนไปในอดีต การแย่งชิงเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลังที่อยู่ภายใต้เงาการเมือง เกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เกิดการชิงตำแหน่งระหว่าง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ "หม่อมเต่า" กับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ "ดร.โกร่ง" ที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมือง ซึ่งสุดท้าย ดร.โกร่งได้รับเลือกด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะ "กุนซือ" เศรษฐกิจรัฐบาล
การสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความเป็นอิสระของ ธปท. หลังจากที่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองกับ ธปท. ได้ในระดับหนึ่ง