KEY
POINTS
การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันพุธที่ 20 พ.ย. 2567 นี้ มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการประชุมพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ “นายพล” ประจำปี 2567
มีรายงานว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับนายพล จะแบ่งเป็น 2 ล็อต
ล็อตแรก การประชุม ก.ตร. วันที่ 20 พ.ย. 2567 จะเป็นการแต่งตั้งระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) , ระดับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) และ ระดับ ผู้บัญชาการ (ผบช.)
เมื่อได้แล้วจะให้รักษาราชการไปก่อน
ล็อตที่สอง ก.ตร.จะประชุมกันวันที่ 15 ธ.ค. 2567 เป็นการแต่งตั้ง นายพลเล็ก ระดับต่ำกว่า ผบช. ลงไป ระดับ ผู้บังคับการ (ผบก.) - รอง ผบก.
สำหรับการแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร. - ผบก. วาระประจำปี 2567 มีตำแหน่งว่าง ดังนี้ รอง ผบ.ตร. 4 ตำแหน่ง, ผู้ช่วย ผบ.ตร. 7 ตำแหน่ง, ผบช. 14 ตำแหน่ง, รอง ผบช. 41 ตำแหน่ง และ ผบก. 74 ตำแหน่ง คาดว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ที่ได้เลื่อนระดับสูงขึ้น โยกสลับระนาบเดียวกัน รวม 200 ตำแหน่ง
โดยหน่วยหลักหลายตำแหน่งว่างลง ได้แก่ ผบช.น. ผบช.ภ.1-4 ผบช.ตชด. ผบช.สตม. และ ผบช.สอท. ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญ จึงขอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความเหมาะสม เข้าดำรงตำแหน่ง มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้
ทั้งนี้ ระดับ ผบก.-ผบช. กฎหมายกำหนดให้พิจารณาผู้มีอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับ ส่วนที่เหลือให้พิจารณาจากอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
ตั้งรองผบ.ตร.ใหม่อีก 3
สำหรับรายชื่อผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่จะเลื่อนขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. เรียงตามลำดับอาวุโส ได้แก่
1.พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข (ปัจจุบัน รักษาการ รองผบ.ตร.)
2.พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี
3.พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง
4.พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร
7 ผู้ช่วย ผบ.ตร.
ส่วนรายชื่อ ผบช. 7 ลำดับ เรียงตามลำดับอาวุโส ที่จะเลื่อนขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้แก่
1.พล.ต.ท.ธนพล ศรีโสภา จตร. (หน.จต.)
2.พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.
3.พล.ต.ท.อภิชาติ เพชรประสิทธิ์ ผบช.ส.
4.พล.ต.ท.กฤษฎา สุรเชษฐพงษ์ ผบช.สกบ.
5.พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม.
6.พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ. 2
7.พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ภ. 4
“นพศิลป์ พูลสวัสดิ์”เต็งผบช.น.
สำหรับตำแหน่งระดับ “ผู้บัญชาการ” นั้น ที่น่าสนใจคือ
ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตัวเต็ง พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. จ่อขึ้น ผบช.น. โดยมีคู่ชิง คือ พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.ภ.7 เป็นม้ามืดที่อาจโยกกลับนครบาลถิ่นเก่า
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภาค 1) ตัวเต็ง พล.ต.ท.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ จเรตำรวจ (จตร.) จ่อโยกมา ผบช.ภาค 1 ถิ่นเก่า โดยมีคู่ชิง คือ พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภาค 6 สอดแทรก
ผบช.ภาค 2 ตัวเต็ง พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. จ่อคิวโยกมาเป็น ผบช.ภาค 2 โดยมีคู่ชิง คือ พล.ต.ต.ฉัตรชัย สุรเชษฐพงษ์ รอง ผบช.ภาค 2
ผบช.ภาค 3 ตัวเต็ง พล.ต.ท.กฤษฎา กาญจนอลงกรณ์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. จ่อคิวโยกมาเป็น ผบช.ภาค 3
ผบช.ภาค 4 ตัวเต็ง พล.ต.ท.สุรพล เปรมบุตร ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. โยกมาคุมภาค 4 โดยมีคู่ชิง คือ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.
“กฤตธาพล ยี่สาคร”รั้งผบช.ภ.5
ผบช.ภาค 5 พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภาค 5 อยู่ที่เดิม สายสัมพันธ์ภาคเหนือเชื่อใจได้
ผบช.ภาค 6 พล.ต.ท.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผบช.ภาค 6 อยู่ที่เดิมแรงยังดี?
ผบช.ภาค 7 พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต แต่หากโยกออกขอลุ้นไปคุมนครบาล แต่หากไม่ได้ ขออยู่ที่เดิม
ผบช.ภาค 8 พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 ขออยู่ที่เดิม แต่มีคู่ชิงคือ พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จตร.
ผบช.ภาค 9 พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภาค 9 ยังรักษาเก้าอี้เดิมไว้ได้
ผู้บัญชการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ รอง ผบช.สันติบาล จ่อขึ้น ผบช.สันติบาล โดยมี คู่ชิง คือ พล.ต.ต.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบช.ก.
ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 มาแรงถูกโยกมาขึ้น ผบช.ตชด. โดยมี คู่ชิง คือ พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รอง ผบช.ภ.9
จเรตำรวจ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ(ผบช.สพฐ.ตร.) ส่อถูกโยกมา เป็นหัวหน้าจเรตำรวจ
“มณฑล บัวจีบ”จ่อคุมสอท.
ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พล.ต.ต.มณฑล บัวจีบ รอง ผบช.สันติบาล เต็งจ๋าที่จะขึ้นมาเป็น ผบช.สอท. โดยมี คู่ชิง คือ พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. ... 2 คนนี้ ใครจะแรงกว่ากันก็ชนะ ขึ้น “ไซเบอร์1”
ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล(ผบช.สกพ.) มาแรงที่จะขึ้นเป็น ผบช.สตม. โดยมี คู่ชิง คือ พล.ต.ท.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ... 2 คนนี้ หากใครพลาด ได้ไปนั่ง ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.)
ทั้งหมดคือ “โผตำรวจ” ระดับนายพลตำแหน่งสำคัญๆ ส่วนจะเป็นไปตามนี้ หรือ จะมีการโยกสลับตำแหน่งอะไรกันอีกหรือไม่ มารอลุ้นผลการประชุม ก.ตร. ที่กำลังจะมีขึ้นกัน...
++++
7 หลักเกณฑ์แต่งตั้งนายพลตำรวจ
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงวุฒิ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aek Angsananont (พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์) ว่า แนวทางตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เกี่ยวกับการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับนายพล คือ
1.การคัดเลือกหรือแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ถึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อตามที่ได้จัดเรียงตามลำดับอาวุโส (มาตรา 82 (1)) และตำแหน่ง ผบช. ถึง ผบก. ให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อตามที่ได้จัดเรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตาม(มาตรา 82 (2))
ส่วนจำนวนตำแหน่งว่างที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน (มาตรา 82 (4) และมาตรา 82 วรรคสอง)
ในการนี้เคยมีกรณีที่มีผู้ร้องทุกข์ และก.พ.ค.ตร.ได้วินิจฉัยว่าผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งหากมีอาวุโสต่ำกว่าต้องมีความรู้ความสามารถ ประวัติรับราชการ มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าผู้ที่มีอาวุโสมากกว่าในแต่ละคนนั้นๆ อย่างไร (ตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เรื่องดำที่ รท. 48 / 2566 เรื่องแดงที่ รท. 240 / 2567และเรื่องดำที่ รท.49/ 2566 เรื่องแดงที่ รท. 209 / 2567)
2.การแต่งตั้ง “ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.” ให้ผบ.ตร.คัดเลือกเสนอ ก.ตร.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (มาตรา 78 (2))
3. การแต่งตั้ง “ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.และผบช.” ต้องคัดเลือกรายชื่อผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นทุกคนในภาพรวม ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับตร. ซึ่งประกอบด้วย ผบ.ตร. จตช. รองผบ.ตร.ทุกคนและผู้แทน สง.ก.พ.เสนอแนะ (มาตรา 78 (3))
คณะกรรมการฯดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสมในการคัดเลือก(มาตรา 81(1)(ก)) และตามคำวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท.48/ 2566 เรื่องแดงที่ รท.240 / 2567 )
4.การแต่งตั้ง “ตำแหน่งรอง ผบช. และ ผบก.” พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 บัญญัติให้ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ให้ผบช.เสนอโดยนำข้อมูลการเสนอการแต่งตั้ง ที่ได้จากการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับบช. ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงาน(ผบช.) และรองหัวหน้าหน่วยงาน (รองผบช. ) ของแต่ละบช.นั้น ที่กำหนดในข้อกำหนด ก.ตร. ข้อ 37 (ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น)
ขั้นตอนที่ 2 ผบ.ตร.นำข้อมูลผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นทุกคนในภาพรวม เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับ ตร. (มาตรา 78 (3)และมาตรา 81 (1)(ก)) พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมแล้ว เสนอแนะต่อ ผบ.ตร.และให้ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับตร.เสนอแนะ
โดยต้องนำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับบช.ที่มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามขั้นตอนที่ 1. มาประกอบการพิจารณาด้วย
หากมีความเห็นต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการให้ชี้แจงต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับตร. ก่อนเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ(ตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท.48/ 2566 เรื่องแดงที่ รท. 240 / 2567)
5.ในกรณีที่มีการร้องทุกข์เรื่องการแต่งตั้ง ตามมาตรา 87 ที่ผ่านมา ก.พ.ค.ตร. จะแสวงหาข้อเท็จจริง โดยเรียกเอกสารและพิจารณาจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นหลัก รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องในการประชุม(ตามแนวคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท. 48 / 2566 เรื่องแดงที่ รท. 240 / 2567 และเรื่องดำที่ รท.49 / 2566 เรื่องแดงที่ รท.209 / 257)
6.หากในที่ประชุม ก.ตร. ไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจทำให้ ผบ.ตร.พิจารณาเปลี่ยนแปลงรายชื่อตัวบุคคล จากที่คณะกรรมการแต่งตั้งระดับ ตร.พิจารณาเสนอไว้แล้ว จะต้องย้อนนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับ ตร. และ บช. พิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องพิจารณาในรูปของคณะกรรมการในระดับ ตร. และ บช. เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 78 (4) (ตามแนวคำวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท.49/ 2566 เรื่องแดงที่ รท.209 / 2567)
เว้นแต่ในการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับตร.และบช.มีการพิจารณาและมีข้อมูลเสนอแนะไว้ครบถ้วนตามประเด็นที่พิจารณาครบทุกรายที่พร้อมให้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้
7. อนึ่งนอกเหนือจากการวางแนวทางการแต่งตั้งตามคำวินิจฉัย ของ ก.พ.ค.ตร.ดังกล่าว ยังพบว่า มีข้อสังเกตเพิ่มเติมของ ก.พ.ค.ตร.บางท่านไว้ในความเห็นแย้งประกอบคำวินิจฉัย โดยเห็นว่า “การที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เป็นกรณีที่ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนอีก ตามนัยมาตรา 87 วรรคสี่ด้วย”