การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 ในเวลา 15.30 น. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขพ.ร.ก.การประมง จำนวน 7 ฉบับ ที่หลายพรรคการเมืองร่วมกันนำเสนอ
หลังจากที่มีชาวประมงจำนวนมากมายื่นหนังสือถึงหลายพรรคการเมือง ขอให้ช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขการจำกัดสิทธิการประมงในหลายเรื่อง และแก้ไขเรื่องใบอนุญาตการทำประมง ซึ่งทุกพรรคก็รับปากจะช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้
ในระหว่างการประชุม มีการอภิปรายของส.ส.ทุกพรรคทั้ง ฝ่ายรัฐบาลและ ฝ่ายค้าน ต่างพร้อมใจสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
แต่หลังการแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้นที่ใช้เวลานานกว่า 2.30 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวลงมติวาระรับหลักการ ปรากฏว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พากันเรียกร้องให้ปิดประชุม เพื่อไปลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวในครั้งต่อไป
เหตุเพราะมีจำนวนสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตา มีแนวโน้มไม่ครบองค์ประชุม แต่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธาน ยืนยันให้มีการลงมติทันที เพราะพี่น้องชาวประมงรออยู่ ถ้าไม่โหวตวันนี้ก็ไม่รู้จะนำกลับมาพิจารณาได้ทันหรือไม่ เพราะยังมีขั้นตอนพิจารณาในวุฒิสภาอีก ควรโชว์ให้เห็นว่าใครรักชาวประมงจริงหรือรักแต่ปาก
หลังจากที่รอให้สมาชิกแสดงตนอยู่นาน ปรากฏว่า มีส.ส.แสดงตนเพียง 93 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ที่ต้องใช้เสียง 210 คน ทำให้ นายศุภชัย สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.22 น.
อันส่งผลให้ ร่างแก้ไขพ.ร.ก.การประมง จำนวน 7 ฉบับ ต้องค้างอยู่ในสภาต่อไป
สมัยประชุมสภานี้ สภาผู้แทนฯ มีเวลาประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายอีกเพียง 1-2 วันเท่านั้นคือ 22-23 ก.พ.2566 เพราะระหว่างวันพุธ-พฤหัสบดี ที่ 15-16 ก.พ. จะเป็นการอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152
ก่อนหน้าที่สภาฯ จะล่ม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเรื่องรับทราบการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) อีก 7 คน และประกาศรายชื่อ ส.ส. ที่อยู่ลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่างลง 5 คน
ทำให้ตัวเลขของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่และปฏิบัติหน้าที่ได้ 420 คน ซึ่งองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 210 คน
ในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุ “สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า” นับสถิติได้เป็นการล่มของสภาผู้แทนราษฎร 31 ครั้ง ประชุมร่วมรัฐสภา(ส.ส.+ส.ว.) 11 ครั้ง รวม 42 ครั้ง
เกิดคำถามว่า บรรดาผู้แทนฯ ทั้งหลาย ทำงานคุ้มกับเงินเดือน และค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่มาจาก “ภาษีอากร” ของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่
ทั้งนี้ปัจจุบัน บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีอัตราเงินประจําตําแหน่ง และเงินเพิ่ม ของประธาน และ รองประธานสภาฯ ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
• ประธานสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท
• รองประธานสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท
• ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
• ส.ส. เงินเดือนประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท
นอกจากนั้น ยังมีอัตราสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีก ดังนี้
การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ และเอกชน กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน แบ่งเป็น
• ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท
• ค่าห้องไอซียู/ซีซียู/วัน สูงสุด 7 วัน/ครั้ง ไม่เกิน 10,000 บาท
• ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 100,000 บาท
• ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 1,000 บาท
• ค่าผ่าตัด/ครั้ง ไม่เกิน 120,000 บาท
• ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 1,000 บาท
• ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท
• การคลอดบุตรคลอดธรรมชาติ 20,000 บาท และผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท
• การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท
• ผู้ป่วยนอก/ปี ไม่เกิน 90,000 บาท
• การตรวจสุขภาพประจําปี ไม่เกิน 7,000 บาท
ทั้งนี้ หากมีการ “ยุบสภา” เกิดขึ้น ก่อนที่สภาฯ จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค.2566 ก็จะสามารถทำให้ ประหยัดงบประมาณเงินเดือน ส.ส. ได้เดือนละ กว่า 47.6 ล้าน อันประกอบด้วย
-เงินเดือนและค่าตอบแทน ของประธานสภา+รองประธาน+ผู้นำฝ่ายค้าน รวม 4 คน = 454,050 บาท
-เงินเดือนส.ส. 416 คน คูณ 113,560 = 47,240,960 บาท รวมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 47,695,010 บาท
ไหน ๆ ส.ส.ก็ทยอยลาออกทุกวัน ๆ ประชุมสภาก็ล่มแล้วล่มอีก ไปไม่รอด แล้วยังจะมี “สภาผู้แทนฯ” ไว้ทำไม?
สู้ “ยุบสภา” ให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะได้ประหยัดงบประมาณเงินเดือน ส.ส. ไม่ดีกว่าหรือ เดือน ๆ หนึ่ง ตั้งกว่า 47 ล้านบาท เชียวน้า
เห็นด้วยมั้ย? พ่อ แม่ พี่น้อง...