***คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3861 ระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ.2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ช่วงโค้งสุดท้ายของ “รัฐบาลลุงตู่” ก่อนปิดฉากลงวันที่ 23 มี.ค. 2566 อย่าว่าแต่เวทีประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลยที่ล่มแล้วล่มอีก “ล่มซ้ำซาก” เวทีประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) กับ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ล่มแล้วล่มอีกเช่นเดียวกัน
ล่าสุด ในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันพุธที่ 8 ก.พ.2566 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และ ยกเลิก มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะ เป็นผู้เสนอ ก็มีอันต้องล่มลง
ก่อนหน้านั้นหลังจากที่ใช้เวลารอองค์ประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง จนสมาชิกมากันครบองค์ประชุม จึงเปิดประชุมได้ในเวลา 11.10 น. แต่ต่อมาการประชุมดังกล่าวยังคงไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระได้ เนื่องจากที่ประชุมได้ขอให้ลงมติในญัตติที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เสนอค้างไว้เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา
กรณีการประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดพิเศษ ดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดระเบียบวาระการประชุมดังกล่าว โดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ให้ที่ประชุมลงมติและเรียกสมาชิกแสดงตนในเวลา 11.28 น. กลับพบว่ามี ส.ว.ลงชื่อเป็นองค์ประชุมเพียง 100 คน
*** หลังจากใช้เวลารอองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง ในเวลา 12.00 น. นายชวน ได้แจ้งว่า ส.ส.ที่แจ้งลาประชุมมี 15 คน ขณะที่ ส.ว.แจ้งลา 95 คน โดยปกติจะใช้ความพยายามให้งานลุล่วง แต่เพื่อไม่ให้สูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ตนขอปิดการแสดงตน และขอแจ้งว่ามีสมาชิกแสดงตน 308 คน ไม่ครบองค์ประชุม เพราะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งคือ 333 คน ต้องขอปิดประชุมและขออภัย จากนั้นนายชวนได้ปิดประชุมในเวลา 12.02 น. ถือเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาล่มครั้งที่ 5 ในปี 2566
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ในการประชุมรัฐสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว ในเวลา 17.25 น. ได้ให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม ปรากฏว่า มีผู้แสดงตนเพียง 182 คน จากทั้งหมด 667 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมี 333 คน ประธานรัฐสภา จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 17.45 น.
*** ภายหลังเกิดเหตุประชุมสภาล่มซ้ำซาก ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงเชื่อมั่นว่า นายกฯ จะ “ยุบสภา” ก่อนครบวาระ คาดการณ์ว่าอาจเป็นช่วงวันที่ 15 มี.ค. และจะจัดให้มีการเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 แต่จะพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ให้เสร็จก่อน โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน ซึ่งหากฝ่ายค้านรวมเสียงได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายลักษณะนี้ นายกฯ จะต้องรับผิดชอบ และเรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
*** บ่ายวันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายพรเพชร วชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือนอกรอบที่ห้องรับรอง ร่วมกับ นายชวน, นายพรเพชร และ นายวิษณุ กว่า 10 นาที โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการพูดคุยถึงกรณีการประชุมสภาล่มซ้ำซาก รวมทั้งร่างกฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ในสภา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์มีการพูดคุยกันถึงเรื่องสภาล่มหรือไม่ประยุทธ์ว่า "ท่านก็บอกผม ซึ่งผมก็รับทราบและขอบคุณ ซึ่งผมก็พยายามเต็มที่ให้แล้ว"
*** ดูสถานการณ์แล้ว การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประชุมร่วมรัฐสภา หากมีเกิดขึ้นอีกเมื่อใด วันใด ก็คงล่มอีกตามเคย เมื่อสภาล่มซ้ำซาก การที่จะเข็นกฎหมายสำคัญ ๆ ให้ผ่านสภาก็คงเป็นเรื่องยาก!!! โดยเฉพาะ “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567” ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน รัฐบาลคง “ไม่เสี่ยง” นำเข้าสภาฯ แน่นอน เพราะหากถูกคว่ำ หรือ ไม่ผ่านขึ้นมา “นายกฯ” จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หลุดจากเก้าอี้นายกฯ คนที่ 29 แน่นอน ...ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีใครออกมาบอกว่า นายกฯ จะยุบสภา ในวันที่ 15 มี.ค. เพราะถือเป็นช่วงที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เตรียมการณ์ทุกอย่างพร้อมสรรพ พร้อมที่จะจัดให้มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งกันใหม่แล้ว
*** ดั่งที่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เคยออกมาระบุว่า หลังกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับ ไม่ว่ารัฐบาลจะ “ยุบสภา” หรือ “อยู่ครบวาระ” กกต.จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้งราว 45 วัน โดยที่สำคัญคือ ขั้นตอนของการพิจารณาและประกาศระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส 400 เขต การดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด การพิจารณาเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. ซึ่งจะใช้เวลารวมรวม 25 วัน และอีก 20 วัน
สำหรับพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารีโหวต และหากเริ่มนับระยะเวลา 45 วัน ที่กกต.ขอในการเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้ง ก็จะพบว่า ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. เป็นต้นไป หากจะมีการ “ยุบสภา” หรือ “รัฐบาลอยู่ครบวาระ” วันที่ 23 มี.ค. ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง
*** ไปปิดท้ายกันที่...คำคมของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ ที่พูดไว้ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 ภายหลังการประชุม ครม. ถึงข้อห่วงใยเรื่องการใช้งบประมาณสวัสดิการต่างๆ “ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ใช้เงินกว่าล้านๆ ไปแล้ว เงินตรงนี้ไม่ถึงแสนล้านหรอกที่จะเพิ่มเติมให้คนเหล่านี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นบางพรรคเสนอมา 8 แสนล้าน พรรคเดียวนะ ผมก็ไม่รู้จะหาเงินจากตรงไหนเหมือนกัน ก็ให้ประชาชนรับทราบด้วยแล้วกันไม่เช่นนั้นงบประมาณรายจ่ายประจำปี มันลดหมด ถูกดึงไปตรงนี้หมด แล้วจะอยู่กันได้อย่างไรประเทศไทย ผมไม่เข้าใจนะ ก็กราบเรียนประชาชนให้พิจารณาด้วยแล้วกัน” ...คิดเอากันเองก็แล้วกันว่า “บิ๊กตู่” ทิ่มแทงไปที่พรรคการเมืองไหน...