CEO ชั้นนำ เปิดแนวคิดฝ่าความท้าทายอนาคตที่ยั่งยืนบนเวที SX2024

09 ต.ค. 2567 | 02:00 น.

ความพยายามของประชาคมโลกที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 (Sustainable Development Goals) ในอีก 6 ปีข้างหน้า นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ท่ามกลางวิกฤต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์โลก ทำให้องค์กรทุกรระดับ รวมถึงบุคคล ต้องเร่งหาแนวทางปฏิบัติที่เข้มข้นมากขึ้น และการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน โลกรวน มาฟังมุมมองของ 4 ผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำภายใต้ Thailand Supply Chain Network ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอแนะในงานเสวนา "วิสัยทัศน์ 2030 : พลังความร่วมมือสู่อนาคตที่ยั่งยืน"

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า “ถ้ามองภาพใหญ่ที่รัฐบาลต้องออกกฎเกณฑ์กติกาในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมนั้น ภาครัฐก็ต้องฟังเสียงผู้ประกอบการธุรกิจ และฟังภาครัฐด้วยกันเอง จึงจะทำให้เกิดความสมดุลที่ดี เพราะผู้ประกอบการเอกชนมีโอกาสรู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย และรู้ว่ากรอบกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดขึ้นมา สามารถปฏิบัติได้จริง มีความเหมาะสม หรือสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน เปรียบได้กับองค์กรที่จะต้องฟังเสียงพนักงานด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทุกคนก็ต้องคุยกันให้มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทุกคนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ซัพพลายเออร์ หรือเวนเดอร์บางรายที่ให้ความสนใจและพร้อมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน อาจจะมีความได้เปรียบมากกว่ารายอื่นๆ ที่กำลังมองดูเรื่องนี้ "เราก็มองไปถึงปี 2030 ซึ่งทุกองค์กรที่กำลังขับเคลื่อนความยั่งยืนจะมีการดำเนินงานในมิติที่คล้ายกันมากๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เรายังจะต้องเดินไปพร้อมกัน (Co-existence) และอาจจะสามารถนำพาไปถึงการคิดและสร้างสรรค์ร่วมกัน Co-creation ทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดพลังร่วม"

ฐาปน เล่าว่า การจัดงาน Sustainability Expo ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ก็เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Sufficiency for Sustainability มุ่งเน้นให้องค์กรร่วมมือกันเดินตามรอยพระปฐมบรมราชโองการ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกคน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ 3 ห่วง (ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีความคุ้มกันที่ดี) และ 2 เงื่อนไข (คุณธรรม และความรู้) เพื่อสื่อถึงทุกคนว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลที่ดี "เราอยู่ในโลกธุรกิจที่บ่อยครั้งเป็นผู้สร้างปัญหา ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความสมดุล พอประมาณ เราก็จะกลายเป็นคนที่ทำอะไรสุดโต่ง จะใช้ก็ใช้สุดโต่ง อยากได้ราคาที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด ผู้บริโภคก็บริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง แบบที่เรียกว่า Consumerism"

ฐาปน เน้นย้ำว่า เมื่อเราเป็นคนใช้สิ่งของทุกอย่างบนโลกใบนี้ ทุกคนควรคำนึงถึง 5P คือ Planet, People, Prosperity, Partnership and Peace ซึ่งคนจะถามหาเรื่องความเจริญเติบโต แต่ถ้าจะทำให้โลกใบนี้ยั่งยืนได้ก็ต้องมีความร่วมมือกัน และจะต้องก่อให้เกิดสันติภาพ นอกจากนี้ ชุมชนต้องเข้มแข็งและพร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ พร้อมทั้งมีโอกาสไปช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ก่อให้เกิดเป็นภาคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากเรามีการทำงานร่วมกัน จะกลายเป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อความยั่งยืน

 

CEO ชั้นนำ เปิดแนวคิดฝ่าความท้าทายอนาคตที่ยั่งยืนบนเวที SX2024

 

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกว่า ในการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยต้องทำสองเรื่องไปพร้อมๆ กัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเอสซีจีได้เสนอให้ภาครัฐจัดทำแผนแม่บทรีไซเคิล เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง ซึ่งจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

"ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องรีไซเคิล แต่เรายังขาดแผนแม่บทที่จะกำหนดทิศทางและกำกับดูแล รวมถึงการขาดจิตสำนักในระดับบุคคลในเรื่อง Circular Economy เช่น การแยกขยะเปียกขยะแห้ง เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพนำมารีไซเคิลได้จะมีค่าใช้ในการดำเนินการมหาศาล ดังนั้น การดำเนินโครงการอะไรจะต้องคำนึงถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อีกประเด็นที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยเอสซีจีเสนอให้ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด (Law and Regulations) เพื่อให้สามารถซื้อ-ขาย ไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น มีการกำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพสายส่งโดยรวมทั่วประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

ธรรมศักดิ์ บอกว่า เอสซีจี ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน กำลังดำเนินโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้เป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ขณะเดียวกัน เอสซีจีมีเป้าหมายผลิตซีเมนต์คาร์บอนต่ำให้ได้ 80% ภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 100% ในปีหน้า

 

CEO ชั้นนำ เปิดแนวคิดฝ่าความท้าทายอนาคตที่ยั่งยืนบนเวที SX2024

 

ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนได้ สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดคือ ต้องมีพันธะสัญญาร่วมกัน โดยซีพี ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ใน Scope 3 ภายในปี 2050

"ในขณะที่ทุกธุรกิจซีพีใน 20 ประเทศทั่วโลก ยังคงเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-7% ต่อปี ก็ต้องมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีการปล่อยคาร์บอนเฉพาะธุรกิจซีพี 5.8 ล้านตัน ในปี 2023 แต่ถ้ารวมทั้งซัพพลายเชนจะปล่อยคาร์บอนทั้งหมด 79.3 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ซึ่งถือเป็นความท้ายที่จะต้องดำเนินมาตรการให้มากยิ่งขึ้น"

ศุภชัย บอกว่า ซีพีดำเนินการใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงก๊าซมีเทน การจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะอาหาร (Food waste) และการสร้างจิตสำนึก โดยเน้นกระบวนการศึกษา

สำหรับปี 2030 ซีพีตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินงาน Scope 1&2 โดยจะใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแมส และไบโอแก๊ส ลดขยะของเสียเป็นศูนย์ด้วยการผลิตเป็นปุ๋ย 1.2 ล้านตัน ลดอาหารขยะ 56,000 ตัน และใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำ/ใช้ใหม่/ย่อยสลายได้ 100% ส่วนใน Scope 3 จะลดคาร์บอนร่วมกับคู่ค้าให้ได้ 25% โดยจะมีมาตรการเพื่อจูงใจให้คู่ค้ามีการใช้พลังงานหมุนเวียน

 

CEO ชั้นนำ เปิดแนวคิดฝ่าความท้าทายอนาคตที่ยั่งยืนบนเวที SX2024

 

ขณะที่ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2014 เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด หลังจากไทยถูกกดดันจากปัญหาเรื่องแรงงาน และการทำประมงผิดกฎหมาย จนกระทั่งปี 2023 ได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลด้วยการดูแลคนและโลกเพื่อความยั่งยืน ผ่าน 2 เป้าหมายหลักคือ Healthy Living และ Healthy Ocean โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนทั้ง Scope 1,2,3 ให้ได้ 42% ภายในปี 2030 และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะไทยยูเนี่ยนจะต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเชนทั่วโลก”

ธีรพงศ์ บอกอีกว่า จากเดิมที่เน้นสัตว์ทะเลจากธรรมชาติ โดยเฉพาะทูน่า เราได้ขยายขอบข่ายการดูแลไปยังสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ เช่น แมคเคอเรล แซลมอน รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง เช่น กุ้ง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและทำประมงแบบคาร์บอนต่ำ อย่างไรก็ตาม ต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยสถาบันการเงินจะต้องเข้ามาช่วยในด้านการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในซัพพลายเชนสามารถใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังขยายแผนความยั่งยืนให้ครอบคลุมไปยังการเกษตร เช่น การปลูกถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหารสัตว์ โดยกำหนดนโยบายในการรับซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่า และมีระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน

“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, และแอดไลน์ @sxofficial เตรียมพบกับมุมมองดีๆ และต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมกิจกรรมมากมายเพื่อโลก ด้วยกันที่ Sustainability Expo 2024: Good Balance, Better World #good balancebetter world