“กอบศักดิ์”จับตา มรสุมในกลุ่มEmerging Marketsฟาดหางประเทศอื่น รวมถึงไทย

03 ก.ค. 2565 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2565 | 19:02 น.

ดัชนีการลงทุนในกองพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศ Emerging Market ที่สร้างโดย JP Morgan ได้ทรุดลดลงไปใกล้ช่วงที่รุนแรงสุดจากโควิด แล้ว !!!

“กอบศักดิ์” จับตาวิกฤตในกลุ่มประเทศเกิดใหม่รอบนี้ ค่อยๆ กระจายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน กาน่า แซมเบีย สปป.ลาว  -สะสมพลังมากขึ้นเรื่อยในช่วง 2ปีข้างหน้า 

 

ดร.กอบศักดิ์​ ภูตระกูล​ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับกรณีวิกฤตในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market โดยระบุ ว่า Emerging Market Crisis 2022-2023 !!!


 

 

สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป ก็คือ วิกฤตในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Marketที่รอบนี้ เริ่มต้นจากประเทศเล็กๆ เช่น ประเทศศรีลังกา

 

และกำลังค่อยๆ กระจายออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน กาน่า แซมเบีย สปป ลาว  โดยจะสะสมพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

 

 

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ Emerging Market โดยรวม กำลังถูกกดดันจาก

  1. ดอกเบี้ยโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น จากการสู้ศึกกับเงินเฟ้อของประเทศหลักๆ ทำให้ต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
  2. วิกฤตพลังงาน และวิกฤตอาหารโลก ที่ทำให้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร ราคาปุ๋ยแพงขึ้น
  3. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ทำให้ส่งออกกันได้น้อยลง

 

ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น และการไหลออกของเงินจากกลุ่ม Emerging Market นำไปสู่เงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง ค่าเงินที่อ่อน เงินเฟ้อที่สูง และสุดท้าย ลุกลามขึ้นป็นวิกฤตในที่สุด

 

ยิ่งวิกฤต Perfect Storm จากสามทวีป ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ประเทศหลักของระบบเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น มีความรุนแรง ยาวนานมากขึ้นเท่าใด วิกฤตใน Emerging Market ก็จะมีความลำบาก ท้าทายมากขึ้นเท่านั้น 

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ที่เป็นลักษณะเฉพาะในรอบนี้ ก็คือ โดยปกติแล้ว วิกฤตในประเทศเกิดใหม่ จะเกิดเป็นพื้นที่ๆ เช่น

  • Latin American Debt Crisis ที่เริ่มในปี 1982
  • Asian Financial Crisis ระหว่างปี 1997-98
  • Eastern European Crisis หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008

 

เนื่องจากประเทศในพื้นที่เดียวกัน มักจะทำตัวคล้ายๆ กัน มีปัญหาคล้ายๆ กันทำให้เวลาที่เกิดวิกฤต ก็จะล้มไปในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

แต่ในรอบนี้ วิกฤตจะกระจายไปทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาค อย่างที่เห็นในภาพแผนที่ด้านล่าง  โดยจะเริ่มจากประเทศเล็กๆ ที่มีฐานะการเงินและเศรษฐกิจอ่อนแอก่อน เช่น ศรีลังกา กาน่า ปากีสถาน สปป ลาว และค่อยๆ วนขึ้นมาในประเทศที่ใหญ่ขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

สาเหตุที่วิกฤตรอบนี้จะไม่อยู่ในพื้นที่เดียว ก็เพราะว่า ปัญหามีสาเหตุร่วมเดียวกันในระดับโลก ราคาพลังงาน ราคาอาหาร อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หนี้ที่ทุกคนต่างกู้ยืมมาง่ายๆ เป็นจำนวนมากในช่วงสู้ศึกกับโควิด ทำให้ Emerging Market ทั้งหมดถูกกระทบ

 

เพียงแต่คนที่อ่อนแอสุด จะเป็นคนที่เข่าอ่อนก่อนคนอื่นๆ  ทำให้นักลงทุนโลก เริ่มมองหาคนถัดไป ด้วยคำถามสำคัญ “Who is Next?”

 

พร้อมเตรียมการทยอยโยกเงินออกจากกลุ่มประเทศเสี่ยงใน Emerging Market ทำให้ประเทศเหล่านี้ ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในพันธบัตรที่ออกมาใหม่

ล่าสุด เราจะเห็นได้ว่า EMBI Global Diversified Composite หรือดัชนีการลงทุนในกองพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่ม Emerging Markets ที่สร้างโดย JP Morgan ได้ทรุดลดลงไปใกล้ช่วงที่รุนแรงสุดจากโควิด แล้ว !!!

 

นอกจากนี้ พบว่ามีประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรที่มี Spread สูงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของสหรัฐ อยู่ประมาณ 17 ประเทศนับเป็นจำนวนสูงสุด มากกว่าช่วง 2008

 

หรือช่วงโควิดซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยของเฟดที่เพิ่มขึ้นไป ก็จะกดดันให้มีประเทศในกลุ่ม Emerging Market เข้าไปอยู่ใน Radar ของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

 

วนจากประเทศที่อ่อนแอมาก ไปยังประเทศอ่อนแอ ประเทศที่พอไปได้ ทำให้เป็นวิกฤต Emerging Market ในรูปแบบใหม่ ที่กระจายไปทุกพื้นที่ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

ทั้งหมดหมายความว่า สุดท้ายแล้ว หางของมรสุมใน Emerging Market ก็จะฟาดหัวฟาดหาง ไปทุกที่ รวมถึงประเทศไทย

 

ถ้าเราเตรียมการดี ตั้งแต่วันนี้ ทำตัวให้ดี ให้แตกต่าง ให้มีภูมิคุ้มกันภัย ไม่แตกต่างกับช่วงโควิด ที่เมื่อเรารู้ว่ามีเชื้อร้ายกำลังระบาด ก็หมั่นออกกำลังกาย ทานวิตามิน สร้างภูมิต้านทาน ปกป้องตนเองด้วยสุขอนามัยที่ดี

เราก็จะผ่านไปได้

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

#ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ  #EmergingMarketCrisis

ขอขอบคุณภาพจาก DW

“กอบศักดิ์”จับตา มรสุมในกลุ่มEmerging Marketsฟาดหางประเทศอื่น รวมถึงไทย “กอบศักดิ์”จับตา มรสุมในกลุ่มEmerging Marketsฟาดหางประเทศอื่น รวมถึงไทย