กปภ. จับมือ NPNL–SPEB–JICAยกระดับพัฒนาบุคลากรด้านกิจการประปามุ่งสู่สากล

29 ม.ค. 2567 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2567 | 04:30 น.

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จับมือ NPNL–SPEB–JICA ยกระดับพัฒนาบุคลากรด้านกิจการประปาเทียบเท่าระดับสากล

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ร่วมมือรัฐวิสาหกิจน้ำประปานครหลวงเวียงจันทร์ (NPNL) และ Saitama Prefectural Public Enterprise Bureau (SPEB) ยกระดับการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการประปา ภายใต้การสนับสนุนขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตน้ำประปาและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เทียบเท่าระดับสากล
        
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กปภ. ได้ลงนามข้อตกลงการประชุม (Minutes of Meeting) กับผู้แทนจากรัฐวิสาหกิจน้ำประปานครหลวงเวียงจันทร์ (NPNL) และ Saitama Prefectural Public Enterprise Bureau (SPEB) เพื่อร่วมกันยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับกิจการประปาในประเทศไทย และ สปป.ลาว

ภายใต้การสนับสนุนขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำประปา เสริมศักยภาพบุคลากร ลดการใช้พลังงานในระบบประปา ตลอดจนร่วมกันจัดทำสื่อและหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการจัดการสาธารณูปโภคด้านน้ำประปาสำหรับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 

ทั้งนี้ แผนการดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2562-2567 แบ่งระยะการดำเนินโครงการเป็น 10 ระยะ  โดยเมื่อวันที่ 11-22 ธันวาคม 2566 ผู้เชี่ยวชาญจาก SPEB ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงพื้นที่ ให้คำปรึกษาที่ประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ สถานีผลิตน้ำบ้านโกทา กปภ.สาขาขอนแก่น เพื่อร่วมหารือแนวทางการสนับสนุนเทคนิคด้านการประหยัดพลังงานในระบบผลิต และล่าสุดได้กำหนดจัดการประชุมร่วมระหว่าง กปภ. และ NPNL 

โครงการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับกิจการประปาในประเทศไทย และ สปป.ลาว ระยะที่ 6 ณ กปภ.สาขาพัทยา และ กปภ.สำนักงานใหญ่ ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2567 โดยจะร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำประปา การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทรัพยากรบุคคล ตลอดจนร่วมกันกำหนดแผนงานและกิจกรรมในอนาคตเพื่อพัฒนากิจการประปาไทยร่วมกันต่อไป

 

รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านกิจการประปาให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในมาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น