กระทรวงการคลัง เปิดช่องกทม.เช็คบิลบิ๊กทุนปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีที่ดิน

22 ก.ย. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2565 | 17:47 น.

กระทรวงการคลัง เปิดทางกทม. ใช้ดุลยพินิจไล่ถลุง บิ๊กทุนหลบเลี่ยงภาษีที่ดิน  นำที่ดินกลางเมือง ทำการเกษตร ปลูกกล้วย มะม่วง ลดภาระค่าใช้จ่าย  

 

กรุงเทพมหานคร(กทม.)มีนโยบาย เร่งจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ติดปมปัญหาใหญ่ ของ กฎระเบียบข้อบังคับกฎหมายของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ที่เปิดช่องให้ นักลงทุนสามารถ พลิกแพลง นำที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ พลิกโฉมเป็นสวนกล้วยที่ดินเกษตรกรรม เพื่อต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ต่ำลง

 

 

 

ทั้งที่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาแพง  ตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง ผังเมืองกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่สีแดงประเภทพาณิชยกรรมและ เหมาะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ขณะฝั่งของเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ต่างมองว่า เมื่อกฎหมายเปิดช่องถือว่าไม่ผิด กติกา อีกทั้งไม่มีการนำกฎหมายผังเมือง มาเป็นตัวยึดโยงในการเรียกเก็บภาษี 

ปมดังกล่าวส่งผลให้   นายชัชชาติ สิทธิพันธ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือหารือไปยัง คณะกรรมการวิฉิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  กระทรวงการคลัง เพื่อหารือว่าสามารถออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีให้สูงขึ้น ตามเกณฑ์โซนสีผังเมืองได้หรือไม่ คำตอบที่ได้รับ คณะอนุกรรมการวินิจฉัย ฯกระทรวงการคลัง เสียงส่วนใหญ่ระบุซัดว่า

 

หากกทม.จะดำเนินการในลักษณะดังกล่าวสามารถทำได้แต่ ต้อง ไม่เกินเพดาน ที่อัตราโครงสร้างภาษีกำหนด  ของอัตราเกษตร หรือไม่เกิน 0.15% และต้องถือปฎิบัติ ให้เท่าเทียบกันทั้ง 50เขต เพื่อป้องกันการลักลั่น อย่างไรก็ตาม นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์  ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกรรมการผู้จัดการบริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์จำกัด(มหาชน) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า

 

 

กทม.ต้องการเรียกเก็บภาษีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะผิดประเภท ตามผังเมืองโฟกัสเฉพาะ โซนไข่แดง ย่านศูนย์กลางธุรกิจ พื้นที่สีแดง(ประเภทพาณิชยกรรม) เท่านั้น อย่าง เขตวัฒนา ปทุมวัน บางรักฯลฯ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 

 

ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกพืชทำเกษตรกรรม  แต่ปัจจุบันมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่านักลงทุนดังกล่าว อาจจะมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีที่ชัดเจน ซึ่งกทม.สามารถปรับเพิ่มอัตราการเรียกเก็บภาษีได้ ตามดุลยพินิจ  

กระทรวงการคลัง เปิดช่องกทม.เช็คบิลบิ๊กทุนปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีที่ดิน

 

 

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธาน คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ออกมา ยืนยันว่ากทม.และท้องถิ่นอื่นสามารถดำเนินการจัดเก็บเพิ่มได้โดยใช้ดุลพินิจ  เรียกเก็บภาษี จากที่ดินเกษตรเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ได้ ตลอดเวลา

 

 

หากเห็นว่าที่ดินแปลงนั้นเจ้าของมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีที่ดิน ทำเป็นแปลงปลูกพืชเกษตร ปล่อยให้หญ้าขึ้นรก ไม่มีผลผลิต ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้คณะอนุกรรมการฯส่งข้อหารือของกทม. มายังคณะกรรมการฯก่อนกรณีที่มีการปลูกพืชการเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่าใจกลางเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

 

“หลักการของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว กฎหมายได้ให้อำนาจของแต่ละท้องถิ่นในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งหากพบว่าเจ้าของที่ดิน ที่เคยปล่อยให้รกร้างแต่มีการนำปลูกพืชเกษตรเพื่อต้องการเลี่ยงภาษีนั้น ท้องถิ่นก็สามารถใช้ดุลพินิจในการเข้าไปจัดเก็บภาษีได้ เรื่องนี้ ในหลักการต้องดูที่เจตนาด้วย แม้ว่าจะมีการปลูกพืชเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่า แต่ถ้าเจตนาเลี่ยงภาษี ทางท้องถิ่นก็ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า จะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีที่รกร้างว่างเปล่า ก็เพราะต้องการให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากขึ้น”

 

 

อย่างไรก็ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกำหนดจัดเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรในอัตราที่สูงกว่าที่ดินประเภทอื่นๆ นั้น ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

 

หากเป็นที่ดินรกร้างไม่ว่าอยู่ที่ใดในประเทศ แล้วเจ้าของที่ดินนำที่ดินแปลงนั้นไปทำการเกษตร ตามข้อกำหนด ซึ่งจะต้องมีต้นไม้ในพื้นที่กี่ต้นต่อไร่ หากเป็นไปตามข้อกำหนดก็ต้องถือว่าที่ดินแปลงนั้นได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร

 

ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุด ที่จะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ตามประเภทที่ดินดังนี้ คือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราเพดานอยู่ที่ 0.15 % ของมูลค่าที่ดิน

 

ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานอยู่ที่ 0.3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินประเภทอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีเพดานอยู่ที่ 1.2%

 

 

โดยคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกำหนดอัตราภาษีแนะนำ แต่ละประเภทที่ดิน ให้เป็นแนวทางให้ท้องถิ่นจัดเก็บ  ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำหรือสูงกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด ในกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพนั้น

 

กฎหมาย ยังกำหนดอีกว่า  หากที่ดินแปลงใดปล่อยไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และถูกเสียภาษีในอัตราที่รกร้างว่างเปล่าแล้ว ยังไม่ได้นำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ประโยชน์ ยังคงปล่อยไว้ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้น ในทุก 3 ปี จะปรับอัตราภาษีเพิ่มอีก 0.3% หากไม่ได้ทำประโยชน์อะไรอีก ก็จะปรับขึ้นภาษีไปเรื่อยๆ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกิน 3%ของราคาประเมิน

กระทรวงการคลัง เปิดช่องกทม.เช็คบิลบิ๊กทุนปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีที่ดิน

กระทรวงการคลัง เปิดช่องกทม.เช็คบิลบิ๊กทุนปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีที่ดิน