ผังกทม.ใหม่ ขยายศูนย์กลางธุรกิจลามสุขุมวิทซอย 28-30 เศรษฐี -มูลนิธิโลกสีเขียวต้านไม่หยุด ผวา ทุนยักษ์ กว้านซื้อที่ดิน -บ้านโบราณสมัยสงครามโลก ยกซอย ปั้น มิกซ์ยูส ศูนย์การค้า-โรงแรม
ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ขยายพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (ซีบีดี) ในเขตท้องที่วัฒนาบางบริเวณตั้งแต่แยกอโศกมุ่งหน้าไปโซนตะวันออกตามเส้นทางบนถนนสุขุมวิทหรือวิ่งไปตามเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณสุขุมวิทซอย 28, ซอย 30 ใกล้สถานีพร้อมพงษ์ และเขตคลองเตย โฟกัสโซนที่ดินแปลงงามติดริมแม่นํ้าเจ้าพระยาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ส่งผลให้ชุมชนออกมาคัดค้าน สะท้อนถึงความไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพราะหวาดผวาความวุ่นวายพลุกพล่าน ไม่เงียบสงบเหมือนเดิม หากต้องมี ห้างสรรพสินค้า โรงแรมเข้ายึดพื้นที่
แหล่งข่าวจากมูลนิธิโลกสีเขียวยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีนํ้าตาล เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมสีแดง เพราะชุมชนในซอยสุขุมวิท 28 และสุขุมวิท 30 ส่วนใหญ่ เป็นบ้านเก่าแก่ มีตึกสูงน้อยมาก มีเพียงบมจ.เอพีไทยแลนด์ที่สร้างคอนโดมิเนียมบริเวณปากซอยสุขุมวิท 28 ขณะซอยทองหล่อ และ เอกมัย เจริญกว่า มีตึกสูงมี ห้างสรรพสินค้า เกิดขึ้นก่อนเหตุใดจึงไม่ปรับบริเวณนั้น
อย่างไรก็ตาม หากผังเมืองเปลี่ยนสีเป็นสีแดง เกรงว่า จะมีนายทุนใหญ่เข้ามากว้านซื้อเหมายกซอย และเจาะทางเชื่อมพัฒนา เป็นโครงการมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าการปรับผังครั้งนี้ มีนายทุนใหญ่อยู่เบื้องหลัง
ด้านนางสาวสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ในฐานะนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่ในซอย 28 ยอมรับว่าไม่เห็นด้วย เพราะมีบ้านโบราณตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงวิตกว่า จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสีผังเมือง จากที่อยู่อาศัยเป็นห้างสรรพสินค้าได้ ซึ่งความเจริญในลักษณะนี้เราไม่ต้องการ ที่สำคัญเกรงว่านายทุนใหญ่ย่านพระราม 4 จะเข้ามาซื้อที่ดินอีกประเด็นที่กังวลคือ หากมีการปรับให้เป็นพื้นที่สีแดง มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะสูงขึ้น จะมีผลกับภาษีที่ดินที่จะประกาศใช้ตามมา
อย่างไรก็ตาม คอนโดมิเนียม ยังแทรกตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท กลางเมือง แม้ซอยแคบสร้างตึกสูง นายสุธี ลิมปนชัยพรกุล ประธานอำนวยการ บริษัทนายณ์ เอสเตท จำกัด พัฒนาคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ ในซอย สุขุมวท 26 ซึ่งยอมรับว่าเป็นซอยที่ร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ โดยใช้สภาพแวดล้อมที่มีอยู่มาเป็นจุดขาย แนวคอนโดมิเนียมกึ่งรีสอร์ต ซึ่งชาวต่างชาตินิยมมาก
แหล่งข่าวจากกทม. ยอมรับว่า ซอยสุขุมวิท มีการรวมตัวคัดค้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนตระกูลดัง โดยอ้างว่ามีบ้านพักทูต และสถานทูตอยู่บริเวณนั้นจึงไม่เหมาะที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นย่านพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นซอยที่มีต้นไม้ใหญ่ ชุมชนจึงไม่ต้องการให้ถูกทำลายโดยนายทุน จึงรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้พิจารณา
สำหรับโซนคลองเตย ที่ดินของการท่าเรือฯ ติดริมแม่นํ้าเจ้าพระยา เตรียมพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามนโยบายรัฐบาลซึ่งโซนนี้ต้องการให้เชื่อมต่อกับพระราม 4 ซีบีดีเดิม แต่ชุมชน คลองเตยไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับ สำนักงานเขตคลองเตย กล่าวว่า ที่ดินการท่าเรือฯ มีชุมชนอยู่อาศัย 416 ไร่ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยขึ้นอยู่กับการเจรจาค่าชดเชยแต่ ปลายปีนี้ โครงการพัฒนาที่ดินคลองเตย น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
หาขุมทองใหม่...
ทำเลต้องจรัส
กรุงเทพมหานครสำรวจบ้านอยู่อาศัยเก่าแก่ ของตระกูลไฮโซซอยสุขุมวิท อาณาบริเวณเฉลี่ยกว่า 1-5 ไร่ ยังมีอยู่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก หลายหลังขาย ให้นายทุนเพราะเห็นว่าแออัด ไม่น่าอยู่ รอบบ้านถูกปิดล้อมไปด้วยตึกสูง แต่หลายหลังก็ต้องการใช้ชีวิตอยู่ที่เดิม เมื่อเมืองขยาย ความเจริญก้าวเข้ามา มีรถไฟฟ้า แน่นอนว่าผังเมืองต้องทำหน้าที่ปลดล็อกพื้นที่ให้เอื้อต่อการพัฒนาที่ีมากขึ้น
ประกอบกับการขยายขุมทองย่านทำเงินให้กับประเทศจะต้อง พิจารณาจากองค์ประกอบ พื้นที่ที่มีศักยภาพ มีเส้นทางรถไฟฟ้า เชื่อมต่อจากซีบีดีเดิม เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ ประเภท ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน รองรับการติดต่อการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะซีบีดีเดิมอย่าง สีลม สาทร สุขุมวิทตอนต้นแออัดจนไม่มีเหลือที่ดินให้พัฒนา
ทั้งนี้พื้นที่ที่เหมาะสม ขยายเป็น โซนซีบีดี จะต่อจาก ซีบีดีเดิม โดยมีถนนอโศกมนตรี ถนนวงแหวนรัชดาฯ เป็นแกนกลาง ขึ้นเหนือไปชนกับมักกะสันทะลุพระราม 9 และหากวิ่งย้อนกลับไปตามถนนวงแหวนรัชดาฯ ไป ฃยังท่าเรือคลองเตย เพชรเม็ดงามจรัสแสง ติดริมแม่นํ้าเจ้าพระยา มีเป้าหมายเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกับถนนพระราม 4 อาณาจักรเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ผังเมืองกทม.ใหม่ ได้ถักทอเป็นทำเลทองใหม่ในอนาคต
สำหรับ สาเหตุที่คนสุขุมวิทคัดค้านการปรับสีผัง ปมใหญ่ แหล่งข่าวจากกทม. ระบุว่า เนื่องจากการปรับพื้นที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จากสุขุมวิท เชื่อมต่อกับฮับมักกะสัน ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่ง มีแผนพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส โดยกลุ่มซีพี จากการชนะประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน กับที่ดินการท่าเรือฯที่เชื่อมต่อการพัฒนากับถนนพระราม 4 จึงต่างเกรงกันว่าจะถูกนายทุนยึดพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ ไม่เป็นความจริง
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,491 วันที่ 28-31 กรกฎาคม 2562