เจ้าสัว-ทุนข้ามชาติ ยึดบางนา-ตราดปักหมุดอภิมหาโปรเจ็กต์แสนล้าน ล่าสุด “คีรี กาญจนพาสน์” งัดที่แปลงงาม ผุดมิกซ์ยูส-โรงเรียนนานาชาติ รองรับ รถไฟฟ้ารางเบา-อีอีซี
คึกคักขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ “บางนา-ตราด” ถนนสายประลองยุทธ์ระดับเจ้าสัว , นักลงทุนข้ามชาติ ที่ต่างทยอยประกาศปักหมุดโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์แสนล้านรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี กันอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ แยกบางนา-ตราด เดอะมอลล์กรุ๊ป ดอกไม้เหล็ก “ศุภลักษณ์ อัมพุช” พัฒนาแหล่งช็อปปิ้งใหญ่ระดับอาเซียนบนที่ดิน 100 ไร่ ค่ายแมกโนเลีย ทายาทเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ทุ่มเม็ดเงินกว่า 9 หมื่นล้านเนรมิตสวนป่า พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความร่มรื่นพร้อมๆ สมาร์ทซิตี บนที่ดิน 300-500 ไร่ ด้านเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้าง จุดเด่น ทาวน์ชิป เมืองอยู่อาศัย ผสมผสานเมืองอุตสาหกรรมโลจิสติกส์บนที่ดินผืนเดียวกัน 4,300 ไร่
ขณะ ตระกูลจิราธิวัฒน์ แม้จะเจอมรสุมร้อน แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี สำหรับ “เซ็นทรัลวิลเลจ” แหล่งช็อปปิ้งหรู ติดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 370 ทางเชื่อมเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วน ปากประตูอีอีซี ยังมีทุนยักษ์แดนมังกร “แจ็คหม่า” ทุ่มทุนสร้าง ศูนย์กระจายสินค้าอาลีบาบา บนทำเลทอง ของถนนบางนา-ตราด ระหว่างกม. 34-38 สร้างความสั่นสะท้านไม่น้อยให้กับธุรกิจทำนองเดียวกันในประเทศ ไทย รวมไปถึงทุนท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา อย่าง “มารวย เรียลเอสเตท” ประกาศลงทุนสร้างเมืองบนที่ดินแปลงงาม 200 ไร่ บางนา-ตราด กม.34 หาก อาลีบาบา ลงมือ ล่าสุด เจ้าสัว “คีรี” บีทีเอสกรุ๊ป โดดร่วมทุนกับทุนใหญ่ฮ่องกง พัฒนาโรงเรียนนานาชาติ และมิกซ์ยูส บนที่ดิน ธนาซิตี้ หลังเป็นผู้บุกเบิกทำเลนี้มาตั้งแต่ถนนเส้นนี้ยังไม่เจริญ
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
หลังจากประกาศเปิดตัวโปรเจ็กต์ โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ มูลค่า 5 พันล้านบาท โดยดำเนินการภายใต้บริษัทในเครือ ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรร่วม บริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากประเทศฮ่องกง บนเนื้อที่ 168 ไร่ โรงเรียนนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขต กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ภายในโครงการที่อยู่อาศัยเก่าแก่ “ธนาซิตี้” ย่านบางนา-ตราด กม.14 ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการของลูกบ้านและบุคคลโดยรอบ
นอกจากนี้ ยูซิตี้ ยังมีที่ดินติดถนนบางนา-ตราด ด้านหน้าโครงการ ธนาซิตี้ อีกจำนวนเกือบ 200 ไร่ ซึ่งเตรียมพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าวด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดแนวคิดและแผนพัฒนา คาดจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปีหน้า เช่นกัน ทั้งในรูปแบบพัฒนาเองทั้งหมด หรือ หาพันธมิตรร่วมลงทุน เนื่องจากขณะนี้มีพันธมิตรหลายราย ทั้งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก เข้ามาหารือพูดคุยบ้างแล้ว โดยศักยภาพของที่ดินดังกล่าวนั้น เบื้องต้นสามารถพัฒนาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานค้าปลีก เป็นต้น
“แผนพัฒนาดังกล่าวเป็นส่วนเสริม เติมให้โครงการ ธนาซิตี้ เนื้อที่กว่า 1,700 ไร่ เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น หลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในไว้อย่างลงตัว ทั้งสนามกอล์ฟที่มีชื่อเสียง และพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ถึง 60% ล่าสุดมีแผนลงทุนโครงสร้างระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าสายสีฟ้าอ่อน หรือ รถไฟฟ้าไลต์เรล สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นปัจจัยเสริมสร้างความคึกคักให้พื้นที่ โดยคาดปี 2563 น่าจะมีการเปิดประมูลดำเนินการได้ ทั้งนี้ กลุ่มบีทีเอสมีความสนใจเข้าร่วมประมูลเช่นกัน”
นายคีรี ยังระบุว่า ปัจจุบัน บริษัทมีที่ดินสะสมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า มูลค่าร่วมหลักหมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาโปรเจ็กต์ให้เอื้อประโยชน์ต่อกันทั้งในเชิงธุรกิจ และประโยชน์ต่อคนในชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เงินสดล้นมือ BTS ลงทุน ต่อยอด อสังหาฯ-สื่อ
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562