เจ้าสัวเจริญ เขย่าทำเลโค้งนํ้าเจ้าพระยา นำที่ดินที่ตั้งชิงช้า ชมเมืองข้างเอเชียทีค ฝั่งพระนคร ผุดตึกสูงโรงแรม 100 ชั้น 450 เมตร ค่า 3 หมื่นล้านแซงไอคอนสยาม-วันแบงค็อก ทุบทุกสถิติ หากกลุ่มเซ็นทรัลไม่ลุยต่อซุปเปอร์ทาวเวอร์พระราม 9
ศึกชิงความได้เปรียบระดับสุดยอดเจ้าสัวเมืองไทย นอกจากจะสะสมแลนด์แบงก์ เฟ้นทำเลพรีเมียม หรือไม่ก็สร้างประวัติศาสตร์ซื้อที่ดินแพงที่สุดไว้ในมือแล้ว แต่ละค่ายยังมีกลเม็ดปั้นอาณาจักรพัฒนาโครงการ ร่ายมนต์สะกดให้ทุกพื้นที่กลายเป็นที่สุดจุดหมายปลายทางของคนไทยและชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมูลค่าโปรเจ็กต์ที่สูง พื้นที่ใช้สอยอันกว้างใหญ่ไพศาล ความอลังการที่ไม่เคยปรากฏพบเห็นที่ไหนมาก่อน ความสูงของตึกก็เช่นกัน เนื่องจากแต่ละปี จะเห็นความยิ่งใหญ่ผ่านความเป็นเจ้าเวหา นับตั้งแต่ในอดีต สายตาทุกคู่จะสะกดอยู่ที่ตึกใบหยก 2 ตึก สูงเสียดฟ้า 88 ชั้น มองเห็นวิวเมืองแบบพาโนรามาของ นายพันธ์เลิศ ใบหยก ตั้งเด่นตระหง่าน ใจกลางประตู นํ้า เรียกเสียฮือฮาไม่น้อย สร้างความตื่นตาตื่นใจอยากปีนป่ายขึ้นไปสัมผัส สำหรับคนมีเงินในยุคก่อน และแล้วตึกใบหยกก็ถูกทำลายสถิติลงเมื่อปี 2552
ทันทีที่ที่ดินย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพ มหานคร บริเวณสถานีบีทีเอสช่องนนทรี สายสีลม-สาทร สร้างความตื่นตะลึงให้ชาวไทยและชาวโลกอีกครั้ง เมื่อบริษัท เพซ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวตึกสูงทะลุฟ้า “มหานคร” สถาปัตยกรรมสุดลํ้า ออกแบบตัวอาคารเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้น 3 มิติ หรือ “พิกเซล” กระจกทั้งหลัง สร้างสรรค์โดยบริษัทสถาปนิกในกลุ่มบริษัท บูโร โอเล เชียเรน กรุ๊ปฯ ด้วยความสูง 314.2 เมตร จำนวน 78 ชั้น พื้นที่ใช้สอยผสมผสานไปด้วยโรงแรม ร้านค้าปลีก
ในเวลาต่อมา ตึกสูงแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนมือ และเปลี่ยนชื่อ เป็น “คิงเพาเวอร์ มหานคร” ของกลุ่มคิงเพาเวอร์ ในปี 2559 พร้อมปรับโฉมให้กับคนไม่สะท้านความสูง สร้างจุดชมวิวใกล้ชิดชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ได้อย่างมาก
“คิงเพาเวอร์ มหานคร” เป็นตึกค้างฟ้าได้ไม่นาน ในที่สุดได้ถูกทุบสถิติความสูง เมื่อ “ไอคอนสยาม” ของ เจ้าสัวซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” ร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ นางชฎาทิพย์ จูตระกูล เปิดตัวมหานครแห่งสายนํ้าเจ้าพระยา ช่วงปลายปี 2561 ปลุกฝั่งธนบุรีย่านเจริญนครให้ตื่นจากหลับ จุดพลุกลายเป็นจุดหมายปลายทางเมืองช็อปปิ้งโลก เปลี่ยนพื้นที่อันเงียบสงบเป็นแหล่งชุมนุมนักท่องเที่ยวนานาชาติหลากรสนิยม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างมาก ทั้ง การเชื่อมโยงรถไฟฟ้า การเกิดและเติบโตของคอนโดมิเนียมลักชัวรีริมคุ้งนํ้า และความเหลือเชื่อเหนือลํ้า ได้เกิดปรากฏการณ์ตึกสูงสะท้านฟ้า เมื่อได้เปิดตัว “แมกโนเลียส์วอเตอร์ฟรอนท์” คอนโดมิเนียม สุดหรู สูง 317.95 ม. 70 ชั้น ทำลายสถิติเดิมเท่าที่เคยมีมา
เมื่อข้ามปีเข้าสู่ปี 2562 ไอคอนสยามถูกลบสถิติลงอีกครั้งเมื่อเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดตัวโครงการ 1.2 แสนล้านบาท บนที่ดินผืนโตเนื้อที่ 104 ไร่ ทำเลหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุอาณาจักรใหญ่ ทำเลทองคำฝังเพชร ด้วยตึกสูงทะลุฟ้า 90 ชั้น ที่ความสูง 430 เมตร สูงที่สุดในประเทศไทย ติด 1 ใน 10 อาเซียน รอสร้างความตื่นตา ชวนสัมผัสให้กับชาวไทยและชาวโลกอีกครั้ง
ยังไม่ทันจะหายตื่นตะลึง เจ้าสัวเจริญ เตรียมแผนสร้างความสูงทำลายสถิติต่อเนื่องทันที และล่าสุดกลับมาเขย่าทำเลริมนํ้าเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร ย่านเจริญกรุง บนที่ดินราว 50 ไร่ แปลงติดกับเอเชียทีคปัจจุบัน ที่สำนักวางผังเมือง กทม. ระบุ กลุ่มทีซีซีได้ขอปรับสีผังเมืองเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมหรือพื้นที่สีแดง ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกลุ่มทีซีซี ยืนยันว่าเจ้าสัวเจริญอยู่ระหว่างออกแบบที่ดินแปลงดังกล่าว บริเวณที่ตั้ง “ชิงช้า” ให้กลายเป็นโรงแรมสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูงทำลายทุกสถิติ แม้แต่วันแบงค็อกที่ความสูง 450 เมตร หรือ 100 ชั้นแลนด์มาร์กเลอค่าริมโค้งนํ้าเจ้าพระยา
แหล่งข่าวขยายความต่อว่า โครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี มูลค่าประมาณ3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ดินอีกแปลงฝั่งตรงข้ามติดโรงแรม แมริออทเดิม มีแผนรอพัฒนาเช่นกัน แต่คาดว่าน่าจะเป็นโรงแรม หรือแนวเอเชียทีค
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกโครงการที่น่าจับตา หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจพลิกเกมกลับมาเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศ และยืนหนึ่งในอาเซียนที่ความสูง 615 เมตร หรือ 125 ชั้น นั่นคือ “ซุปเปอร์ทาวเวอร์” ของกลุ่มเซ็นทรัลที่เทกโอเวอร์ ต่อมาจากค่ายจีแลนด์ ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพระราม 9 ย่านธุรกิจใหม่ พราวแพรวไปด้วยสุดยอดนวัตกรรม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเสียงลือออกมาหนาหูตั้งแต่แรกว่า เซ็นทรัลไม่พร้อมที่จะไต่ความสูง ส่งผลให้เวลานี้ตึกที่สูงที่สุดยังคงเป็นของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี นั่นเอง
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563