แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขยับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เปิดขายเอกสารประกวดราคา เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ เส้นทางสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ยังติดปัญหาอยู่มาก และอาจนำไปสู่ค่าโง่ ซ้ำรอย หลายโครง การในอดีตของรัฐที่ผ่านมาได้ เริ่มจากพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนที่ดิน ถูก คณะรัฐมนตรี(ครม.) ตีกลับ โดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งแก้ไขใหม่ เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาและรฟม. ไม่เคยลงพื้นที่เจรจาทำความเข้าใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ ชุมชนประชาสงเคราะห์ และมีข้อพิพาทฟ้องร้องในศาล ซึ่งปัจุบันคดียังไม่สิ้นสุด
กรณีปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางจากประชาสงเคราะห์ไป พระราม 9-ดินแดง เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดหน้าดินเวนคืนตามข้อตกลงที่มีให้ไว้กับชาวบ้าน แต่ในเวลาต่อมาปี 2560-2561 กลับเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก. คจร.ที่มีมรว. ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธานแทน นายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นแนวประชาสงเคราะห์ ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่นอีกครั้ง ทำให้ติดปัญหาการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอในกรณีเส้นทางตัดผ่านชุมชนหนาแน่น และรฟม.ยังไม่เปิดรับความคิดเห็นชาวบ้าน
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์มองว่า เป็นการดำเนินโครงการในลักษณะข้ามขั้นตอนกฎหมาย ดังนั้นพรฏเวนคืน จึงต้องปรับใหม่ ให้เรียบร้อยจนกว่าจะเสนอครม.เห็นชอบอีกครั้ง
สำหรับ การเวนคืนสายสีส้มตะวันตก(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ตลอดแนว มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 331 หลังคาเรือน ที่ดิน 505 แปลง ในจำนวนนี้แยกเป็นชุมชนประชาสงเคราะห์ 184 หลังคาเรือน วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะราคาที่ดินขยับสูงต่อเนื่อง ติดถนนรัชดาฯ ราคา ตารางวาละ 1 ล้านบาท ส่วนในซอยลึกเข้าไปจากถนน ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 แสนบาทต่อตารางวา ซึ่งรฟม.จะจ่ายค่าชดเชยให้ตามราคาตลาด
สำหรับทางออก รฟม. มีแผนยืดระยะเวลาการประมูลออกไป และหากได้ตัวเอกชนแล้ว การลงนามในสัญญาจะรอจนกว่าเคลียร์ เรื่องเวนคืนสำเร็จ หากเช็นสัญญาไป ทั้งที่ยังไม่พร้อม ยอมรับว่า จะเสียค่าโง่ ถูกปรับค่าเสียหายตามมา คาดว่า ต้นปีหน้าน่าจะเรียบร้อย ท่ามกลางการเร่งรัดเดินหน้าโครงการตามนโยบาย กระทรวงคมนาคม
นายประทีป นิลวรรณ ประธานชุมชนแม่เนี้ยว แยก 3 แกนนำชุมชนประชาสงเคราะห์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ชุมชนประชาสงเคราะห์ไม่ต้อง
การขัดขวางโครงการของรฟม.กลับกันต้องการให้ความเจริญเข้าพื้นที่ แต่ที่ผ่านมารฟม.และบริษัทที่ปรึกษา ไม่เคยลงพื้นที่ทำความเข้าใจชาวบ้าน สำคัญที่สุดต้องการ ให้รฟม. ใช้ หัวเจาะลอดใต้ชุมชนเพื่อชาวบ้านได้อยู่ที่เดิม แต่หากรฟม. ใช้วิธีเปิดหน้าดิน ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ มองว่าไม่เป็นธรรม
ขณะการเวนคืนพื้นที่ จำนวน 32 ไร่ จากถนนวิภาวดีฯ วิ่งเข้าโค้ง ตัดผ่านสวนป่า มุ่งหน้ามาที่ชุมชนประชาสงเคราะห์ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร หากคำนวนพื้นที่ เฉลี่ย 40 ตารางวา พื้นที่ 32 ไร่ จะกินพื้นที่บ้านเรือนประชาชน 321 หลังคาเรือนไม่ใช่ 184 หลังคาเรือน ขณะ ห้างเอสพานาด รฟม. กับเอกชน เตรียมพื้นที่ให้รถไฟฟ้าลอดใต้ห้างใด้ แต่ทำไมชุมชนทำไม่ได้
“ไม่สามารถก่อสร้างได้แน่นอน หากเอกสารไม่สมบูรณ์ อีไอเอยังไม่ผ่านรฟม.ไม่เจรจากับชาวบ้าน พรฏ.เวนคืนถูกกลับไปแก้ไข อีกทั้งนายกฯ ไม่เห็นด้วยกลัวเสียค่าโง่”
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจที่ดินรอบสถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งอนาคตจะเป็นสถานีร่วมรถไฟฟ้าใต้ดิน แห่งแรกของประเทศไทย ระหว่าง สายสีส้ม และ MRTใต้ดินสีน้ำเงิน เพิ่มศักยภาพการพัฒนา ราคาที่ดินบอกขาย 1.2-1.3 ล้านบาทต่อตารางวา มีที่ดินแปลงใหญ่ของเอกชนรอพัฒนา ได้แก่ ที่ดิน แปลงรัชดา ของนพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร 33 ไร่ปัจจุบันเป็นสวนมะนาว ที่ดิน แหลมทองค้าสัตว์ อีกกว่า 26 ไร่ ที่ว่ากันว่า กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซุ่มซื้อไป และที่ดินทำเลหัวมุมพระราม 9-รัชดา ของกลุ่มเซ็นทรัลซื้อต่อจาก กลุ่มจีแลนด์ นอกจากห้างเซ็นทรัลพระราม 9 รวมถึงเจ้าถิ่นอย่างกลุ่มซีพี ที่ปักหมุดธูรกิจมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีคอนโดมิเนียมอาคารสำนักงาน ขยายพื้นที่จาก ใจกลางเมือง มายังทำเล นี้ สร้างความมั่งคั่งให้กับพื้นที่ อย่างน่าจับตายิ่ง
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563