“ภาษีที่ดิน”ป่วน! ฮือฮา จุฬาฯ –ห้างยักษ์ ยื่นพรึบขอผ่อน

05 ก.ย. 2563 | 04:59 น.

ภาษีที่ดินป่วน !  แลนด์ลอร์ด กระอัก ลดหย่อน 90% ลดหย่อนแล้วยังไม่ไหว  จุฬา  สะเทือน ขอผ่อน ภาษี “CU I-House “  4หมื่น 3งวด ตามด้วยผู้เช่า สามย่านมิตรทาวน์   -โรงแรมอโนมา  ต้องควักจ่ายเรือนแสน  เขตปทุมวันเผย ที่ดินกลางเมืองแพงระยับ ส่วนใหญ่ เป็นนายทุนขอผ่อน

หลัง กรุงเทพมหานคร ขยาย ระยะเวลาชำระภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง  ลดความโกลาหลจากเดือนสิงหาคมออกไปเดือนตุลาคม  ในเวลาไม่ห่างกัน (  วันที่2กันยายน 2563) ได้ประกาศ ผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  3งวด กรณี เกิน 3,000บาท  เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม – ธันวาคม  เพื่อบรรเทา ความเดือนร้อน ประชาชน ตลอดจน ผู้ประกอบการช่วงสถานการณ์โควิด   อย่างไรก็ตาม แม้ รัฐบาล ได้ ออกประกาศพระราชกฤษฏีกา(พรก.)  ลดหย่อนภาษี  90%  เฉพาะปี2563 ประชาชนเสียค่าใช้จ่าย เพียง 10% จาก อัตราเรียกเก็บ   แต่ สิ้นเดือนกันยายนนี้ กำลังจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2563   หาก ไม่ต่อพรก.ออกไป อาจส่งผลให้ ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียภาษีรอบปีงบประมาณ2564  จะดีดกลับมาหา ผู้เสียภาษีเป็น10เท่า  สมทบด้วยราคาประเมินที่กรมธนารักษ์ ประกาศใช้ปีหน้า มูลค่าที่ดินที่ต้องประเมินใหม่ ปรับสูงขึ้นแน่นอน เมื่อเทียบกับบัญชีราคาประเมินรอบเก่าเมื่อ4-5ปีก่อน เพราะปัจจุบัน เมืองเจริญ เกิดการพัฒนา มีรถไฟฟ้าผ่าน

ความวิตกกังวลนี้ส่งผลให้  นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่า กทม.  ต้องออกมาผ่อนคลาย ผู้เสียภาษี โดยระบุว่า หากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีรายการประเมินไม่เป็นธรรม สามารถยื่นคำร้องได้ ขณะรายใด ชำระ ไม่ไหว สามารถ ผ่อนจ่ายได้แต่มีเงื่อนไขว่า  ต้องมียอดที่ต้องเสียภาษี เกิน3,000 บาท ขึ้นไป อนุโลมผ่อนชำระได้3งวดๆละเท่าๆกัน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม –ธันวาคม 2563 นี้ เท่านั้น

สำหรับการ แบ่งงวดชำระเกิดจากประชาชนตลอดจนผู้ประกอบการ ร้องเรียนผ่านสำนักงานเขต และ กองรายได้ กทม.  ทั้งนี้แหล่งข่าวจาก สำนักงานเขตปทุมวัน  ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ ย่านศูนย์กลางธุรกิจสำคัญ อย่างเพลินจิต ชิดลม วิทยุ พระราม1 ฯลฯ สะท้อนว่า จากผลกระทบภาษีที่ดิน และสถานการณ์โควิด ส่งให้ มี  เจ้าของทรัพย์สิน  ยื่นเรื่องขอผ่อนผันมายังสำนักงานเขต จำนวน 17ราย (ข้อมูลณวันที่ 3กันยายน2563)   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ  ในนามบุคคล บริษัทห้างร้าน  ผู้เช่าที่ดิน ผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนสถาบันการศึกษา  ได้แก่   เรือนวิรัชมิตรอาคารพักอาศัยนิสิตเช่ารายเดือนรายวัน (CU I-House) ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เสียภาษีปีนี้ กว่า40,000 บาท  สัดส่วนเพียง 10% ที่ได้รับลดหย่อน ตามด้วย  ห้างยักษ์ สามย่านมิตร ทาวน์   บนพื้นที่ 14 ไร่ 2.2แสนตารางเมตร  เป็นพื้นที่เช่าที่ดินทรัพยสินจุฬาฯ ทำเล มุมถนนพญาไท-พระราม 4  ซึ่งเคยเป็น ตลาดสามย่าน  ขึ้นชื่อด้านอาหารอร่อย ที่ปีนี้ เสียภาษีหลักแสนบาท แต่ หากเสียเต็ม โดยไม่ลดหย่อน 90% อยู่ที่ กว่า 1ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมี  บริษัทโรงแรมอโนมา กรุงเทพ จำกัด  เจ้าของ   โรง แรม อโนมา กรุงเทพ ราชดำริ  อาคารปาร์คซิโก้     ส่วนในนามบุคคล ย่านเพลินจิต  มีบางแปลง ต้องเสียภาษี หลักหมื่นบาท เป็นที่ดินมรดกเก่าแก่  เป็นต้น

 

 

 

 

“ส่วนใหญ่เป็น อาคารขนาดใหญ่อย่างศูนย์การค้า และเชื่อว่าจะทยอย ยื่นเรื่องขอผ่อนชำระ อีกเป็นจำนวนมาก  หลังจาก กทม.ผระกาศผ่อนผันไปแล้ว เพราะที่ดินในเมืองราคาประเมินค่อนข้างสูง ปีงบประมาณหน้า หาก ไม่มีลดหย่อน ทั้ง 17รายที่ผ่อนชำระ ต้องเสียภาษีตามปกติ หรือ เพิ่ม 10เท่า จากยอดลดหย่อน “

ขณะ คอนโดมิเนียม  หรู บ้านเก่าแก่  แม้ได้รับผลกระทบ แต่หาก ได้รับลดย่อนแล้ว ภาษีที่ต้องชำระในปีนี้ ไม่ถึง 3,000 บาท  ไม่เข้าเกณฑ์ต้องแบ่งชำระ  แม้ที่ผ่านมา จะมี การร้องเรียนออกมาเป็นระยะก็ตาม 

อย่างไรก็ตามยังเป็นห่วงเรื่องรายได้ที่ จัดเก็บ เข้ามา ค่อนข้างน้อย เกิดจากการ ลดอัตราภาษี ความไม่เข้าใจของประชาชน การขยาย ระยะเวลา ชำระภาษี และการผ่อนชำระ จากสถานการณ์โควิด

แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวว่าที่ดินในกทม.ย่านใจกลางเมืองมี ปริมาณสิ่งปลูกสร้างค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า  เชื่อว่า ระยะยาวหากราคาประเมินที่ดินปรับ และ สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ประชาชนผู้ประกอบการเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีตัวใหม่เชื่อว่า รายได้กทม.จะกลับมาเป็นปกติและเพิ่มขึ้น ในทุกๆปี

 

 

 

 

 สำหรับ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่   บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ อาทิ ที่ดินราชพัสดุ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐพบว่า  การถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก มักกระจุกตัว เฉพาะ นายทุน  นักการเมือง ผู้มีฐานะร่ำรวย และอาจเป็นที่ดินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ในขณะที่มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีที่ดินหรือบ้านเป็นของตนเอง

โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะกระตุ้นให้ผู้ถือครองที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมอีกด้วย  สำหรับการคำนวณภาษีต้องนำมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ในการประเมินภาษี และกำหนดให้ยื่นชำระภาษีฯ ภายในเดือน เมษยน   ของทุกปี

ข่าวหน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3607 

ด่านข่าว ที่เกี่ยวข้อง 

โขก "ภาษีที่ดิน" ปี 64  "ราคาประเมินใหม่" พุ่งเท่าตัว