การกลับเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาล ผ่านหน้าที่สำคัญสูงสุด ในการกำกับดูแล ออกนโยบายทางเศรษฐกิจ กำหนดทิศทางประเทศ ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กับ ตำแหน่ง “ขุนคลัง” หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ที่ว่างลงแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ดูเหมือนจะเป็นความหวัง ที่ค่อนข้างสดใสของภาคธุรกิจอีกครั้ง เนื่องด้วยประสบการณ์และบุคลิก ต่างเป็นที่ยอมรับนับถือ เช่นเดียวกับความหวังในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จากภาวะกำลังซื้อภายในประเทศ และต่างประเทศหดตัว อีกทั้งสถานการณ์โควิดได้กระทบลุกลามภาวะเศรษฐกิจ และความมั่นใจในการซื้ออย่างรุนแรง เกิดภาพตลาดชะลอตัวมากที่สุดนับจากวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 ผ่านการขออนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.) มีตัวเลข ลดลง -62.6% ส่วนการเปิดโครงการใหม่ หดตัวมากกว่า 40% ขณะการโอนกรรมสิทธิ์ คาดอาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปี จึงจะมียอดกลับมาเทียบเท่าปี 2562 จากสถานการณ์ดังกล่าว นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รายนามขุนคลังคนใหม่นั้น ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ต่อทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของตลาดอสังหาฯ ซึ่งกำลังติดหล่มจากปัจจัยลบหลายด้าน หลังเชื่อมั่นในฝีมือประสบการณ์ก่อนหน้า พร้อมฝากการบ้าน 3 เรื่องใหญ่ ให้รัฐมนตรีคลังคนใหม่ พิจารณาดำเนินการ ทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาฯ ภาพรวม ย้ำ! ต้องงัดกลุ่มคนมีเงินมาขับเคลื่อน
รมว.ใหม่คุณภาพคับแก้ว
ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่มชมอยู่ไม่น้อย หลังรัฐบาลตัดสินใจ ดึงนายอาคม เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ณ ขณะนี้ เนื่องด้วย มองว่า นายอาคม ถือเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพคับแก้วคนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อให้เกิดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายด้าน ทั้งรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ และสาธารณูปโภคสำคัญ อีกทั้ง ยังเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว ผ่านการเคยดำรงตำแหน่ง เลาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญ ในการวางกรอบและแนวทางการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จึงมองว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมมากที่สุด กับ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ณ เวลานี้ ที่ต้องการได้รับการฟื้นฟูจากคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างเร่งด่วนที่สุด
ร้องต่อลมหายใจเอกชน
โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างมากนั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการมาช่วยเหลือกระตุ้น โดยเฉพาะอุ้มกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า หลังนายอาคมเข้ารับตำแหน่งแล้ว จะมีมาตรการกระตุ้นด้านอื่นๆออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการช่วยเหลือในกลุ่มเอกชน -ผู้ประกอบการ ทั้งระดับเล็ก-กลาง-ใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นกลุ่มผู้จ้างงาน ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ แรงซื้อของคนในประเทศ ขับเคลื่อนทั้งระบบ
“การกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้ ต้องทำอย่างครบเครื่อง ครบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้ มีลมหายใจต่อ เกิดการจ้างงานได้ต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ฝากให้รัฐมนตรีใหม่ดูแล”
ตลาดคอนโดฯรอมาตรการ
นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยังกล่าวว่า สำหรับตลาดคอนโดมิเนียม หรืออสังหาฯ ภาพรวมนั้น เบื้องต้นตัวแทนผู้ประกอบการ รวมถึง 3 สมาคมได้มีการเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นผ่านรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้า ซึ่งเข้าใจว่า รัฐบาลคงเร่งดำเนินการ ช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ก่อนกลับมาดูแลอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม ต้องการย้ำว่า ขณะนี้ ตลาดขาดแรงซื้อที่ดี รัฐบาลจะช่วยเหลือได้ ผ่านการออกมาตรการที่เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ซื้อให้น่าซื้อหรือซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องภาษี ที่อยู่ในอำนาจรัฐมนตรีคลัง พิจารณาตัดสินใจได้ทันที ซึ่งมาตรการที่เร็ว, แรงและคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ คือ การขอให้รัฐขยายเพดานราคาบ้าน ที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง 0.01% ให้ครอบคลุมทุกระดับราคา ไม่ใช่เพียงบ้านกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ซื้อมากขึ้น ซึ่งแม้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ จะขึ้นอยู่กับธปท. แต่ในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ย่อมสามารถดำเนินการได้ จึงฝากให้รัฐพิจารณา
“เอกชนในภาคอสังหาฯ เคยเสนอไปแล้วหลายครั้ง ว่าจะต้องใช้แรงขับของผู้ซื้อทุกกลุ่ม”
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,618 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563