มาตราการรัฐช่วยเหลือคอนโดมิเนียมราคาไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทผ่านโปรแกรมพิเศษของอิลีท การ์ด และยังมีแผนขยายให้ครอบคลุมถึง กลุ่มคอนโดมิเนียม กรรมสิทธิ์เช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์ แต่กลุ่มระดับ กลาง-ล่าง กลับไม่ได้รับความเหลียวแลและรอระบายสต็อก จำนวนมากทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเก่าหรือใหม่ มองว่ายังไม่เข้าเป้าหมาย และสอดคล้องกับข้อเสนอแนะ 5 ข้อล่าสุด ของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง
เพื่อขอให้ออกมาตรการมากระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียม ซึ่งนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุด เคยระบุก่อนหน้า ว่า แม้โปรแกรมพิเศษของอิลีท การ์ด จะช่วยเพิ่มโอกาสของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตกอยู่ในภาวะยากลำบากก็ตาม แต่การขายอสังหาฯ ผ่านบัตรดังกล่าว ยังคงเป็นการกระตุ้นส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับตลาดใหญ่กลุ่ม 5-10 ล้านบาทที่รอการขาย จึงต้องการให้รัฐออกมาตรการโดยตรงมากกว่า เช่น ให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า ในระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด เช่น ห้องชุดมูลค่า 3-5 ล้านต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี มูลค่า 5-10 ล้านต่อห้องได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี และ มูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อห้องได้สิทธิถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยทันที เพราะต้องยอมรับว่า นอกจากจำนวนซัพพลายคงเหลือกลุ่มใหญ่คือ
ระดับ 3-5 ล้านบาทแล้ว ในสภาวะความไม่แน่ทางเศรษฐกิจ ที่หลายชาติกำลังเผชิญ เช่น ชาวจีน กลุ่มลูกค้าใหญ่ของอสังหาฯไทย อาจไม่มีความสามารถลงทุนในยูนิตที่มีมูลค่าสูงได้มากนัก โดยเซ็กเมนต์เดิมที่ได้รับความนิยมอยู่ คือ ราว 3-5 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัย ชี้วัดความน่าสนใจของการเข้ามาซื้อ-ลงทุนอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยในไทยอย่างปลอดภัยระยะยาวนั้น กำลังตกอยู่ในภาวะความท้าทายใหม่ หลังเกิดกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง
โดยมีต้นตอจากแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหากรัฐเข้าจัดการควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัด ตัดตอนการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว มองจะยิ่งเป็นการตอกย้ำ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับระบบสาธารณสุข ควบคุมโรคของไทยอีกด้วย
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,638 วันที่ 24 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563