การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจอมรสุม รอบด้าน เพราะนอกจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องศาลอีกรอบ ล่าสุด ร่อนหนังสือด่วนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบปม ไม่ชอบมาพากล เปิดประมูลรอบใหม่ใช้เกณฑ์เทคนิคร่วมซองราคา สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท วันที่ 8 มีนาคม 2564 ทั้งที่ล้มประมูลขณะคดียังคาอยู่ศาล ขณะปมร้อนเวนคืนที่ดินทั้งสองเส้นทางมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เกือบ 1,000 แปลง ยังระอุ โดยเฉพาะสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) มูลค่า 1 แสนล้านบาท ที่วันนี้ รฟม.ยืนกรานจำเป็นต้องใช้ที่ดินวัดเอี่ยมวรนุช สร้างสถานีบางขุนพรหม ความโกลาหลบังเกิดขึ้น ไม้แพ้สายสีส้มบริเวณชุมชนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง 184 หลังคาเรือน
วัดเอี่ยม-รร.คาซาอ่วม
นายอนุรักษ์ นิลสุวรรณ ลูกศิษย์ วัดเอี่ยมวรนุช เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ดินของวัดเอี่ยมวรนุชหัวมุมถนนสามเสน ซึ่งเป็นส่วนของศาลา 2 หลังและ อาคารพาณิชย์ 2 คูหา ให้เอกชนเช่าเป็นร้านค้าถูกกระทบเวนคืนสร้างเป็นสถานีบางขุนพรหมอย่างแน่นอน แม้รฟม.จะออกมาปฏิเสธ นอกจากนี้ในย่านเดียวกันโรงแรม คาซานิทรา กรุงเทพฯ และโรงแรม คาซานิทรากรุงเทพฯ ย่านบางลำพู ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน ซึ่งเจ้าของยอมรับ หากถูกเฉือนพื้นที่จะกระทบโครงสร้างทั้ง
อาคารเพราะเป็นระบบสำเร็จรูป เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากรฟม.ยอมรับว่า สายสีม่วงค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะเส้นทางในเมือง บริเวณสถานีสามยอด สถานีบางขุนพรหม และเตาปูนชุมชนขนาดใหญ่
ยันใช้ที่วัด
สำหรับแนวทางแก้ปัญหา นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการรฟม. ระบุว่า รฟม.ทำความเข้าใจกับทางวัดเอี่ยมวรนุช เพื่อหาแนว ทางลดผลกระทบเวนคืนที่ดิน เนื่องจากเป็นโครงการฯ ยังไม่ได้เปิดประมูลหาผู้รับจ้างกระทรวงคมนาคมมอบนโยบายไม่เวนคืนที่ดินในส่วนของพื้นที่เจดีย์และวิหารแต่ ที่จะกระทบคือ ตึกแถว ร้านค้า สร้างทางขึ้น-ลงสถานี 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) คาดว่าจะมีการเจรจานัดหมายกับวัดอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป โดยจะปรับลดผลกระทบของพื้นที่นี้ให้น้อยที่สุดสำหรับพื้นที่ของวัดเอี่ยมวรนุชมีทั้งหมด 2 ส่วน 1.พื้นที่บริเวณอาคาร ร้านอาหาร ซึ่งจะได้รับผลกระทบบางส่วน เนื่องจากเป็นทาง-ขึ้นลงของ สถานีบางขุนพรหม ในโครงการฯ 2.พื้นที่ภายในวัด
ขณะผู้อยู่อาศัยบริเวณสถานีสามยอด ขึ้นป้ายคัดค้านการก่อสร้างสายสีม่วงใต้ ยังไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบเมื่อครั้งก่อสร้างสถานี สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคนั้น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. ระบุว่า เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยรฟม.ประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นลำดับและอนุญาตเวนคืนพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
เทคนิคพ่วงราคา
ส่วนความคืบหน้า สายสีส้ม หลังมีมติล้มประมูล ล่าสุดได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง RFP เพื่อประมูลโครงการฯ รอบ 2 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยจะรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป ในประเด็นอาทิ เงื่อนไขประมูล การแบ่งซองประมูล รวมไปถึงการคำนวณคะแนนเพื่อพิจารณาข้อเสนอควรเป็นอย่างไร
“ยืนยันว่าเป็นแค่เปิดรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่ทีโออาร์ และยังไม่ใช่แนวทางที่จะเปิดประมูล เป็นเพียงข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) และเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 เห็นชอบต่อไป”ผู้ว่าการรฟม.กล่าว
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการ รฟม.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 16 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนส่งข้อเสนอเพิ่มเติม และประมวลผลอีก 5 วัน ก่อนจัดทำร่าง RFP เพื่อเสนอคณะกรรมการ มาตรา 36 ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม นี้ หลังจากนั้นจะประกาศขายซองเอกสาร คาดว่าจะได้ตัวเอกชนชนะการประมูลในเดือนสิงหาคม 2564 ทั้งนี้การกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน รฟม.ยืนยันว่าไม่ใช่การกำหนดใช้ในมาตรฐานที่สูงเกินไป เพราะที่ผ่านมาเคยมีโครงการของกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ที่กำหนดเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิค 90 คะแนน และด้านราคา 10 คะแนน ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าที่ต้องใช้วิธีการด้านเทคนิค ใช้สัดส่วนนี้ก็ไม่สูงเกินไป อีกทั้งยังเป็นโครงการร่วมทุนเอกชน ดังนั้นรฟม.ก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเกณฑ์ด้านราคาสูงถึง 70 คะแนน
สายสีส้มหนังม้วนยาว
ขณะการชิงประมูล มองว่า สายสีม่วงใต้ น่าจะไม่เกิดการแข่งขันเพราะเป็นส่วนต่อขยายของเอกชนรายเดิม ที่ร้าวลึกเห็นจะเป็นสายสีส้ม ที่ฝั่งบีทีเอสซีมีการฟ้องศาลปกครองอีกรอบหลังล้มประมูลและอาจกลายเป็นหนังม้วนยาวทำให้รถไฟฟ้าเส้นนี้ อาจยังขยับต่อไม่ได้ ขณะบีทีเอสซีมองว่าหากเป็นโจทย์ฟ้องรฟม.แล้วจะเข้าร่วมประมูล ได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณา
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564