วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ยังคงสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างไม่สิ้นสุด และสร้างความท้าทายให้กับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีต้นทุน - ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่าย ในการก่อสร้างพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย มานานมากกว่า 1 ปี จากการไม่สามารถทำกิจกรรมทางการตลาด เปิดขายโครงการใหม่ และระบายสต๊อกสร้างเสร็จได้คล่องตัว เนื่องจากมาตรการทางสังคม และบรรยากาศโดยรวมของกำลังซื้อผู้บริโภค กลายเป็นอุปสรรค-ข้อจำกัด
โดยตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงต้นไตรมาส เกิดการระบาดระลอก 2 แม้รัฐบาลออกมาตรการมากระตุ้น เพื่อพยุงกำลังซื้อหลายรูปแบบก็ตาม แต่ “ตลาดที่อยู่อาศัย” ยังได้รับผลพ่วงจากปัญหา หนี้ครัวเรือน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยการปฎิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์) ในกลุ่มลูกค้า ได้ทำให้หน่วยขาย โครงการบ้าน - คอนโดมิเนียมบางส่วน มีเม็ดเงินเป็นศูนย์ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์หมุนมาเป็นรายได้เข้าบริษัทต่างๆได้
ทำให้ผลดำเนินงานของผู้ประกอบการบริษัทอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) หลายบริษัท ที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ ได้รับผลกระทบไปตามๆกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการคอนโดฯ สะท้อนผ่านตัวเลขรายได้ที่ลดลง หรือจากมีกำไรในช่วงปีก่อน พลิกกลับเป็นขาดทุนก็มี แต่อย่างไรก็ตาม พบยังมีบางบริษัท ด้วยกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง จากการปรับตัวเร็ว ในการบริหารจัดการต้นทุน กระแสเงินสดได้ดี และขยายสินค้าไปในหลายทำเล ปรับเซกเม้นท์ให้เข้ากับผู้บริโภคที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะการเจาะตลาดแนวราบ ประกอบกับการออกแคมเปญทางการตลาดใหม่ๆ ทำให้ผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ยืนหนึ่งทั้งเรื่องรายได้และกำไร สวนกระแสความผิดปกติของเศรษฐกิจและผู้บริโภค
โดยบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ยังคงทำผลประกอบการได้ดีต่อเนื่อง สืบเนืองมาจากผลงานทีดีเยียมในสินค้ากลุ่มแนบราบ สร้างรายได้เฉพาะ 8,040 ล้านบาท จาก 100 โครงการเดิมที่อยู่ระหว่างการขาย และ 5 โครงการใหม่ ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ เช่น อภิทาวน์ นครศรีธรรมราชและอภิทาวน์ อยุธยา ขณะคอนโดฯการโอนกรรมสิทธิ์ที่ทำได้มาก 70-80% ในแต่ละโครงการ ได้ผลักดัน รายได้รวมงวด 3 เดือนแรก ได้สูงถึง 9,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.7% กระโดดจากรายได้รวมช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ราว 6,820 ล้านบาท
เช่นเดียวกับกำไร เพิ่มขึ้นมา จาก 618 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 127% ทั้งนี้ นายวิทการ จันทวิมล ระบุ สินค้ากลุ่มแนวราบที่ยังคงเป็นซูเปอร์สตาร์ โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ ที่เติบโตสูงขึ้นในทุกไตรมาส สะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นจากภายใน และการรับมือกับปัจจัยภายนอก
ด้าน บมจ. เอสซี แอสเสท ประกาศมีรายได้รวม 3,965 ล้านบาท เติบโต 20% พร้อมกำไรสุทธิ 417 ล้านบาท เติบโต 39% ซึ่งนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยมาจากความสำเร็จในบ้านกลุ่มราคา 5 ล้านบาท , 5-20 ล้านบาท และพอร์ตหลักบ้านเดี่ยวมากกว่า 20 ล้านบาท โตแข็งแกร่งนับ 4 เท่าตัว พร้อมย้ำ แม้สถานการณ์โควิดมีความท้าทายอย่างมาก แต่มั่นใจบริษังจะบรรลุเป้าหมาย ทั้งยอดขายและรายได้ของปีนี้ พร้อมขึ้นแท่นแบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับ 1
บมจ. ออริจิ้น เป็นอีกบริษัท ที่มีผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นสวนสภาพตลาด โดยนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุ ไตรมาสแรก มีรายได้จากการขาย จํานวน 3,446.1 ล้านบาท คิดเป็น 89.1 % ของรายได้รวมที่ทำได้ทั้งหมด 3,869 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นถึง 60.7% ทำกำไร 868.1 ล้านบาท จากการทยอยโอนกรรมสิทธิ์ ใน 7 คอนโดฯ ขณะโครงการบ้าน เรือธงตัวใหม่ ผลักดันเป็นไปตามแผน
บมจ.ศุภาลัย มีผลประกอบการลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย โดยรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ อยู่ที่ 3,602.52 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังมาจากบ้านและทาวน์เฮ้าส์ 71% เนื่องจากคอนโดฯ มีกำหนดแล้วเสร็จ และโอนฯเป็นจำนวนมากในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลกำไรสุทธิ ลดลงราว 8 ล้านบาท อยู่ที่ 741.08 ล้านบาท
ส่วนอสังหาฯกลุ่มใหญ่ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สร้างรายได้ไตรมาสแรกปี 64 รวม 4,282 ล้านบาท ลดลง ซึ่งมาจากรายได้ จากการขายโครงการที่อยู่อาศัย ปรับตัวลดลง 457.6 ล้านบาท โดยชี้แจงต่อ ตลท. ว่ามาจากภาพรวมอุตสาหกรรมชะลอตัวจากสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลต่อยอดปฏิเสธสินเชื่อ และอำนาจในการซื้อของลูกค้าลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ยอดขาย ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า จึงมั่นใจว่าในปีนี้ บริษัทฯจะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าที่ 17,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
ความซบเซาของกำลังซื้อในตลาดคอนโดฯ ที่บางส่วนพึงพาลูกค้าต่างชาติ ยังสะท้อนผ่านผลประกอบการของ 3 บริษัทใหญ่ โดย บมจ. อนันดา ในงวด 3 เดือน แรก สามารถทำได้เพียง 1,046.5 ล้านบาท เป็นการลดลงราว 31.2% จากปีก่อน ในแง่ผลตอบแทน ยังมีกำไรอยู่ที่ 38.8 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขที่ลดลง หายไปถึง 89.7% ขณะที่ในปี 2564 นั้น อนันดา ตั้งเป้ายอดโอนกว่า 16,008 ล้านบาท ยอดขาย 18,570 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ แม้ประกาศเทริน์อะราวด์ด้านรายได้ เพราะความหวังด้านวัคซีน ณ คราวประกาศแผน แต่พบ งวด 3 เดือนแรกของปี สามารถรายได้ได้ที่ 1,423 ล้านบาท ยังลดลง 21.85% กดดันผลกำไรสุทธิ หลุดไปอยู่ที่ 122.86 ล้านบาท ทั้งนี้ แจ้งว่า มาจากรายได้ จากการขายที่ลดลง โดยส่วนใหญ่ 64% เป็นการรับรู้รายได้จากคอนโดฯ ที่สร้างแล้วเสร็จ ณ สิ้นปี 2563
ส่วน บมจ. เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ครอบคลุมหลายขารายได้ แต่ในแง่รายได้จากการขายในไตรมาสแรกนั้น ทำได้ 1,159.37 ล้านบาท ลดลง 36.46 % จากปีก่อน เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง ประกอบกับ ไม่มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ รายได้รวมอยู่ที่ 1,254.09 ล้านบาท เกิดการขาดทุนสุทธิ 27.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลประกอบการข้างต้น ยังไม่นับรวม การประกาศของบริษัทใหญ่อีกหลายบริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง บมจ.พฤกษาฯ , พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, แสนสิริ และ แลนด์แอนเฮ้าส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีมาร์เก็ตแชร์ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดแนวราบและมีการแข่งขันสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา
การบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่เป็นไปสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนกำลังซื้อของประชาชนในวงกว้าง ยังนับว่าเป็นหลักสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ตลอดทั้งปี 2564 ขณะปัจจัย วัคซีนป้องโควิด-19 เป็นความหวังสูงสุดของผู้ประกอบการ ว่าจะทำให้เศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ส่งผลกำลังต่างชาติกลับมา ตลอดจนความมั่นใจของคนไทย ช่วยหนุนความต้องการเพิ่มในกลุ่มที่อยู่อาศัยให้กลับมาในทุกระดับราคานั่นเอง
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564