ดร.โสภณ จี้นายกฯ เลิกก่อสร้าง 'บ้านมั่นคง'คลองเปรมประชากร

28 พ.ค. 2564 | 08:35 น.

ดร.โสภณ ร่างจดหมายเปิดผนึก จี้นายกฯ และภาคการเมือง สั่งล้ม 'โครงการบ้านมั่งคง คลองเปรมประชากร ' อ้างทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคนบุกรุก ไม่คุ้มค่าทุ่มงบแผ่นดิน

ดร.โสภณ พรโชคชัย นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่างจดหมายเปิดผนึก  เรื่อง ขอให้ล้มเลิกโครงการบ้านมั่นคง คลองเปรมประชากร  โดยร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ,นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ,หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค (ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) และ บรรณาธิการสื่อต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาใจความระบุว่า ....

ตามที่รัฐบาลได้ทำการก่อสร้างบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คลองเปรมประชากรมีขนาดเล็กลง ยกเอาที่ดินของแผ่นดินไปใช้เพื่อ “กฎหมู่” อย่างผิดกฎหมายและทุจริต สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติ
เรื่องเดิม

ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำที่ดินริมคลองเปรมประชากรไปก่อสร้างบ้านมั่นคงให้กับผู้บุกรุกริมคลองหลายแห่ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 นายกฯ ได้ไปทำพิธีลงเสาเอกสร้างบ้านมั่นคงที่ทางเข้ามหาวิทยาลัยรังสิต ตำหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานีด้วยการก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน  210  หลัง โดยมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  และนี่เป็นเพียงโครงการหนึ่งที่รัฐบาลจะจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้บุกรุกริมคลองเปรมประชากรจำนวน 38 ชุมชน รวม 6,386 ครอบครัว โดยเปลี่ยนจากผู้ที่บุกรุกเป็นผู้อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
 

ความผิดพลาดของรัฐที่นำไปสู่การล้มเลิกโครงการบ้านมั่นคง คลองเปรมประชากรหรือที่อื่น ได้แก่ 

1. การแปลงผู้กระทำผิดกฎหมายหรือผู้บุกรุกให้ถูกกฎหมายนี้ ผิดหลักการของกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง ผู้บุกรุกเหล่านี้เอาเปรียบสังคมมาช้านานด้วยการบุกรุกปลูกบ้านในที่สาธารณะ เมื่อไม่อยู่เอง ก็ปล่อยเช่าบ้าง บุคคลเหล่านี้ควรละอาย พอและหยุดเอาเปรียบสังคมต่างหาก

2. การนำที่ดินที่เป็นสมบัติของแผ่นดินของประชาชนโดยรวมมาให้กับกลุ่มผู้บุกรุกที่กระทำผิดกฎหมายนี้ ถือว่ารัฐกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงเสียเองหรือไม่ การจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนนั้นยังมีทางเลือกอื่นอีกมากมาย แต่รัฐบาลกลับไม่นำพา

3. ที่ดินริมคลองเปรมประชากรนี้ แต่เดิมทางราชการมีดำริมานานแล้วว่าจะนำมาก่อสร้างถนนจากบางซื่อถึงรังสิตเพื่อเพิ่มพื้นที่การจราจรเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม   การนำมาสร้างบ้านมั่นคงนี้จึงเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

4. การนำงบประมาณแผ่นดินไปให้ผู้บุกรุกที่ผิดกฎหมายมานานใช้เพื่อช่วยเหลือในการรื้อย้าย  สร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว  เป็นค่าเดินทางไปทำงาน  และสร้างบ้านใหม่ เป็นสิ่งที่รัฐสามารถทำได้หรือไม่ ถือเป็นการกระทำที่ทุจริตหรือไม่

5. การสร้างบ้านมั่นคงนี้ยังเป็นการทำลายคลองเปรมประชากร แทนที่จะรื้อบ้านที่บุกรุกริมคลองและทำลายสิ่งแวดล้อม กลับสร้างเขื่อนล้ำเข้าไปในแนวคลอง ทำให้คลองมีขนาดเล็กลง ต่อไปการระบายน้ำก็จะมีประสิทธิภาพต่ำลง หากเกิดน้ำท่วมก็จะสร้างปัญหาอย่างแสนสาหัสแก่ประชาชนส่วนใหญ่ยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2528, 2535 และ 2554

ความเสียหายของงบประมาณและความไม่คุ้มค่า

ดร.โสภณ ยังระบุว่า การส่งเสริมการทำผิดกฎหมายโดยบ้านมั่นคงนี้ไม่คุ้มค่าและสร้างความเสียหายแก่งบประมาณแผ่นดิน รัฐเอาที่ดินให้ผู้บุกรุกเช่าเพียงตารางวาละ 2.25 บาทต่อเดือนเป็นเวลาถึง 30 ปี ใช้งบประมาณแผ่นดินไปนับพันๆ ล้านบาท เฉพาะโครงการนี้ใช้เงิน 118 ล้านสำหรับ 210 หลัง หรือหลังละ 560,000 บาท ถ้าทำทั้งหมด 6,386 ครอบครัว (สร้างจริงถึง 8,000 หน่วยเพื่อครอบครัวขนาดใหญ่ด้วย) ก็คงสิ้นเงิน 4,500 ล้านบาท 

ทั้งนี้ยังไม่รวมงบประมาณอื่นที่ทุ่มลงไปทำเพื่อโครงการนี้ เช่นที่คลองลาดพร้าว รัฐก็ให้ผู้บุกรุกเช่าที่ดินปีละ  100 บาทและมีเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 147,000 บาทเพื่อใช้ในการรื้อย้าย  สร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว  เป็นค่าเดินทางไปทำงาน  และสร้างบ้านใหม่  โดยมีสินเชื่อให้กู้รายละ 330,000-360,000 บาท  และผ่อนเดือนละ 1,000-3,000 บาท 

แต่สำหรับผู้บุกรุกเหล่านี้ กลับสามารถผ่อนบ้านที่รัฐสร้างให้เพียงเดือนละ 2,579 บาท  ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่เอาเปรียบสังคมเป็นอย่างยิ่ง  ในระหว่างนั้นพวกนี้ก็อาจปล่อยเช่าหรือเซ้งต่อ เช่น กรณีแฟลตดินแดงในอดีตได้อีก  นี่จึงเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นอย่างยิ่ง  ผู้บุกรุกที่กระทำผิดกฎหมาย กลับได้รับการปรนเปรอต่างๆ นานา  สังคมอาจมองว่าการสร้างบ้านมั่นคงในลักษณะนี้เป็นการหาเสียงการเมือง (ล่วงหน้า)

ตอนท้ายของจดหมาย ยังระบุถึงข้อเสนอแนะ ในการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยยังมีทางเลือกอื่นที่สามารถทำได้ดีกว่า ดังนี้ 

1. รัฐบาลสามารถไปเช่าหอพัก อะพาร์ตเมนต์ในราคาถูกๆ เพียงเดือนละ 2,500-3,000 บาท หรืออาจเช่าตึกแถวที่ไม่มีผู้ใช้งานที่มีอยู่จำนวนมากในย่านนี้มาให้แก่ผู้บุกรุกแยกย้ายไปอยู่อาศัยเป็นเวลา 5 ปีเพื่อให้พวกเขาเตรียมตัวเข้าสู่สังคมปกติ เลิกเอาเปรียบสังคม และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบอีกด้วย ส่วนผู้สูงวัยหรือไม่สามารถช่วยตนเองได้ ก็อาจจัดหาสถานสงเคราะห์เพื่อดูแลเป็นพิเศษ

2. ในกรณีจะจัดหาที่อยู่อาศัยให้ไปอยู่ร่วมกัน รัฐก็อาจจัดซื้อหรือเช่าที่ดินในบริเวณใกล้เคียงให้ผู้บุกรุกได้อยู่อาศัย ที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ก็ใช้วิธีการนี้แทนที่จะนำที่ดินของแผ่นดินไปใช้ประโยชน์แบบมักง่ายเช่นนี้

3. ในการสร้างบ้านมั่งคงในโครงการนี้ใช้ที่ดิน 23 ไร่สำหรับ 485 ครัวเรือน ก็เท่ากับว่าในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้อยู่อาศัยได้เพียง 21 ครัวเรือน หากรัฐบาลนำที่ดินไปสร้างเป็นแฟลตเพียง 5 ชั้น ก็อาจสามารถรองรับคนจนในบริเวณใกล้เคียงมาอยู่อาศัยได้อีก 2,000 ครอบครัว แต่รัฐบาลกลับ “ประเคน” ให้กับผู้บุกรุกเหล่านี้เท่านั้น ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ข้อเสนอแนะ

1. รัฐหยุดสร้างบ้านมั่นคงในลักษณะนี้ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าเป็นการซื้อเสียง ใช้เงินผิดกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ย่ำยีชาวชุมชนในบริเวณใกล้เคียง
 
2. นำพื้นที่ริมคลองเปรมประชากรมาก่อสร้างถนนจากบางซื่อสู่รังสิตดังที่เคยมีนโยบายไว้ในอดีต เพื่อเพิ่มพื้นที่การจราจรให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรแออัดโดยเฉพาะในด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร

3. ควรสอบสวนสิทธิ์ว่าการสร้างบ้านเกินกว่าจำนวนครัวเรือนเช่นนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่คนภายนอกอย่างผิดกฎหมายด้วยหรือไม่

4. ควรหาผู้รับผิดชอบความเสียหายด้านงบประมาณที่เกิดขึ้นนี้ เพื่อนำเงินภาษีคืนสู่แผ่นดิน จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง-ชุมชนแออัด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง