การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เข้าพื้นที่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ใหม่สายอีสานช่วง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม หลัง เมื่อวันที่15กันยายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เวนคืน ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ในเขตท้องที่ 19 อำเภอ 6 จังหวัด รวมที่ดิน 7,100 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 930หลังคาเรือน หรือ 17,500 ไร่ งบชดเชยกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 10,255ล้านบาท
ครอบคลุมท้องที่บางบริเวณ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง อำเภอเมยวดี อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีทั้ง เห็นด้วยและต่อต้านแต่ ส่วนใหญ่คนในพื้นที่ต้องการให้เร่งก่อสร้าง เพราะภาคเอกชน ต่าง จับจองพื้นที่รอพัฒนาเมืองรอบสถานี กันหมดแล้ว เนื่องจากมองเห็นประโยชน์การเชื่อมต่อ ระบบรางการเดินทาง การขนส่งสินค้า ส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ในจำนวนมากและประหยัดต้นทุน
สำหรับรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เป็นทางคู่สายใหม่ มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท มีวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ 55,462 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท ตามแผนกำหนดเปิดเดินรถในปี 2571
ปัจจุบัน รฟท.ได้ประมูล e-bidding งานโยธา จำนวน 2 สัญญา วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท มีผู้ซื้อซองจำนวน 16 ราย มีผู้ยื่นเสนอราคาจำนวน 4 ราย โดยกลุ่มที่มี บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ผนึกผู้รับเหมาท้องถิ่น เสนอราคาต่ำสุด 27,100 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง23 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท มีผู้ซื้อซองจำนวน 16 ราย มีผู้ยื่นเสนอราคา 4 ราย โดยกลุ่มมี บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอ ราคาที่เสนอต่ำสุด 28,310 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลประมูล และมีการตรวจสอบการประกวดราคาจากคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นด้วย เนื่องจากมีการร้องเรียนในประเด็นการกำหนดเกณฑ์การประมูล ที่มีข้อครหาถึงความไม่ชอบมาพากล เพราะทั้ง2สัญญาเสนอราคาห่างจากราคากลางเฉลี่ย0.08% เช่นเดียวกับ3สัญญาสายเหนือ แต่ทั้งนี้ก่อนประกาศผู้ชนะประมูลลงนามในสัญญาจะต้องรอคณะกรรมการชุดดังกล่าวที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นสรุปข้อเท็จจริงออกมาก่อน