ไตรมาส 4 อสังหาฯ ร้อนระอุ ทิ้งทวนปีโควิด บิ๊กแบรนด์สุดอั้น จับจังหวะคลายล็อก ดีเดย์เปิดประเทศ ลุยเปิดโครงการใหม่ไม่ยั้ง แนวราบคึก บมจ. พฤกษา เชื่อทั้งปี ตลาดมีโอกาสพลิกโตได้ 7% ส่วน เอพี ยืนเป้าพรีเซล 3.55 หมื่นล. ผุดใหม่ 13 โครงการ ขณะ บริทาเนีย ไม่หวั่นโอเวอร์ซัพพลาย เครื่องร้อน ส่ง 4 แบรนด์ เจาะทุกเซกเม้นท์ หลังประเมิน สิ้นปีคนหาซื้อบ้านคึก
การเปลี่ยนพฤติกรรม จากแนวสูง สู่แนวราบของผู้บริโภคยุคโควิด-19 ซึ่งเพิ่มความต้องการในตลาดบ้านอย่างคึกคัก ตลอดปี 2563-2564 ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ไปต่อ จากการถูกขับเคลื่อนด้วยเรียลดีมานด์ (ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง) เป็นหลัก ขณะผู้พัฒนาโครงการ ที่ปรับตัวได้ไว จับเทรนด์ ด้านพื้นที่หลากหลาย สอดแนวคิด เน้นความเป็นอยู่ที่ดี ชูสุขภาพ - สุขอนามัยเป็นหลัก ทั้งตัวโปรดักส์ และบริการนั้น พบมียอดขาย (พรีเซล) และรายได้โดดเด่น สวนวิกฤติอย่างเห็นได้ชัด
Q2 บ้านใหม่โต 26.8%
นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เผยว่า ซัพพลายรวมของโครงการบ้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 337,188 หลัง และบ้านที่ผู้อยู่อาศัยสร้างเองจำนวน 225,423 หลัง ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2564 มีการเปิดตัวโครงการบ้านใหม่เพิ่มขึ้นถึง 26.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมียอดโอนบ้านเพิ่มขึ้น 5.2% ต่อปี คิดเป็น 22,141 ยูนิต
เจาะครึ่งปีแรก 2564 ตลาดกทม.-ปริมณฑล มีมูลค่ายอดขายรวมโตขึ้น 16% ที่ 146,481 ล้านบาท ซึ่งมาจากตลาดแนวราบถึง 97,691 ล้านบาท โดยบ้านเดี่ยว เติบโตถึง 36% ส่วนทาวน์เฮ้าส์โต 7% เป็นการปิดยอด 6 เดือนแรกที่ดีของหลายๆ บริษัท แม้ยอดขายจากโครงการคอนโดมิเนียมจะชะลอตัว เช่น บมจ.เอพี, ออริจิ้น, พฤกษา, แสนสิริ และศุภาลัย ส่วนผู้เล่นหลักเดิมในตลาดระดับพรีเมียม อย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และเอสซี แอสเสท โกยยอดขายทะลักเช่นกัน
ขณะไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) เผชิญล็อกดาวน์ใหญ่ - ปิดแคมป์ - จำกัดการเดินทาง ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เลือกชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ และรอจังหวะกลับมาทำการตลาดใหม่อีกครั้งเมื่อมีโอกาส
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เข้ม ตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จนมาถึงนายกรัฐมนตรี ยืนยันเดินหน้านโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ย. ฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เริ่มเห็นความมั่นใจของผู้ประกอบการ ประกาศเตรียมเปิดโครงการใหม่ ช่วงไตรมาส 4 ไฮซีซั่นอย่างคึกคัก โดยส่วนใหญ่ เชื่อว่าโครงการแนวราบ จะเป็นแรงส่งสำคัญ ในการสร้างยอดขาย ปิดยอดปี 2564 ได้ตามเป้าหมาย
เอพี เปิดใหม่ 13 โครงการ
โดยไตรมาส 4 บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เผยว่า บริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 15 โครงการ ซึ่งเป็นแนวราบถึง 13 โครงการ ยืนเป้าเปิดใหม่ครึ่งปีหลังที่ 26 โครงการ 33,440 ล้านบาท หลังจากยอดขาย 8 เดือนแรก เฉพาะสินค้าบ้านเดี่ยว ซึ่งโตกว่า 36% หรือ 12,400 ล้านบาท การันตีการตอบรับอย่างสูงจากลูกค้า อีกทั้งคาดไตรมาสนี้ จะสามารถปิดการขายแนวราบได้อีก 8 โครงการอีกด้วย เจาะโปรดักส์ ไฮไลท์ ได้แก่ โครงการ Centro, บ้านกลางเมือง, อภิทาวน์ ราคา 3-5 ล้านบาท/The City,The Sonne 6-11 ล้านบาท, พีโน 1.5 ล้านบาท และการกลับมาของแบรนด์แกร่ง บ้านกลางกรุง 35 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ ทั้งปี 2564 เอพี วางเป้ายอดขายที่ 3.55 หมื่นล้านบาท
แสนสิริจัดเต็มบ้านแพง
ด้าน บมจ.แสนสิริ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ เผยว่า มองเห็นโอกาสที่ดี หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทั้งนี้ ไตรมาส 4 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท เป็นโครงการแนวราบ 3 โครงการ 2.5 พันล้านบาท ได้แก่ ทาวน์โฮม DEMI สาธุ 49 ราคา 17.9-35 ล้านบาท, โครงการฮาบิเทีย ไพร์ม ราช พฤกษ์ บ้านเดี่ยวจำนวน 10 ยูนิต ราคา 7-9 ล้านบาท และแบรนด์สำคัญ โครงการอณาสิริ รังสิต บ้านสไตล์ญี่ปุ่น เริ่ม 4.59-7 ล้านบาท รวมถึงเตรียมเปิดขายบ้านบุราสิริ พหล-วัชรพล ราคา 13.99 - 22 ล้านบาท, เศรษฐสิริ จรัญฯ-ปิ่นเกล้า 2 ราคา 12-25 ล้านบาท และเศรษฐสิริ พหล-วัชรพล เริ่ม 18.99 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย
เชื่อทั้งปีตลาดโต7%
ขณะนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท เชื่อว่าภาพรวมของตลาดในช่วงไตรมาส 4 จะฟื้นตัวขึ้น หนุนทั้งปีตลาดโตขึ้นประมาณ 7% ประเมินผู้ประกอบการจะทยอยเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงสุดท้ายของปี พร้อมกับออกแคมเปญร้อนแรง จะช่วยกระตุ้นภาพรวม ทั้งนี้ บริษัทยืนเป้ายอดขาย 3.2 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดใหม่อีก 7 โครงการ มูลค่า 7.5 พันล้านบาท หลังจากเร่งเดินเครื่อง 9 เดือน ไปแล้ว 22 โครงการ มูลค่า 18,500 ล้านบาท ตามแผนที่วางไว้
ศุภาลัยลุยเมืองศก.
อีกขาใหญ่ อย่าง บมจ.ศุภาลัย ซึ่งทยอยเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ หลังจากปีนี้ขยับพอร์ตวางเกม เป็นแนวราบถึง 70% ล่าสุด เล็งเห็นสัญญาณบวกในตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจ เปิดใหม่ โครงการ “ศุภาลัย พรีโม่ หนองบัวศาลา” มูลค่า 800 ล้านบาท บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และบ้านแฝด รวม 305 แปลง ราคาเจาะกำลังซื้อ 1.19 - 4.25 ล้านบาท เดินหน้าไตรมาส 4 เปิดตัวโครงการใหม่ถึง 15 โครงการ เน้น แนวราบ 11 โครงการ เพื่อลุ้นเป้ายอดขาย 2.7 หมื่นล้านบาท หลังจาก 9 เดือนทำได้ 1.75 หมื่นล้านบาท
“รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ เริ่ม 1 ก.ย. และผ่อนคลายอีก 10 กิจการเมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้กำลังซื้อที่มีความต้องการ และเคยกังวลไม่กล้าตัดสินใจช่วงก่อนหน้า กลับนำเงินออกมาใช้จ่ายอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัย เช่น แนวราบ ซึ่งมีความจำเป็น” นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม ระบุ
ลลิล-LPNปูพรมทำเลส่วนต่อ
ด้าน นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ลลิล ระบุ ภาพรวมเศรษฐกิจขยับตัวในทิศทางดีขึ้น เปิดโอกาสขยายธุรกิจ ตอบโจทย์กำลังซื้อที่มีอยู่จริงในตลาด ประเดิมไตรมาส 4 ส่ง 3 โครงการบ้าน เจาะเทรนด์สังคมอยู่อาศัยแนวใหม่ รุกทำเลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ได้แก่ โครงการลลิลทาวน์ ไลโอ ลำลูกกา-คลอง 2 มูลค่า 700 ล้านบาท, โครงการลลิลทาวน์ แลนซีโอ คริป ลำลูกกา-คลอง2 มูลค่า 900 ล้านบาท และโครงการแลนซีโอ คริป ศรีนครินทร์-เทพารักษ์ มูลค่าอีก 420 ล้านบาท ขณะบริษัท พรสันติ ผู้พัฒนา “บ้านลุมพินี” ในเครือ บมจ. แอล.พี.เอ็น. เล็งเปิดโครงการใหม่ ย่าน “สายไหม 18-พหลโยธิน” เช่นกัน
บริทาเนียเขย่าตลาดบ้าน
บมจ.ออริจิ้น ส่งบริษัทลูก น้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ “บริทาเนีย” เดินเกมเขย่าเก็บพอร์ตลูกค้าบ้านแพงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริทาเนีย เผยว่า ไตรมาสสุดท้ายเป็นโอกาสในการทำยอดขาย จากลูกค้าที่ต้องการซื้อของขวัญให้กับตนเอง เมื่อประกอบกับคำยืนยันเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ คาดจะช่วยเพิ่ม Sentiment ของผู้บริโภคได้ดี ซึ่งหลังจากช่วงไตรมาส 2 และ 3 บริษัท ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งหมด จะใช้จังหวะนี้ ทำยอดขาย มีแผนเปิดใหม่ทั้งสิ้น 6 โครงการ มูลค่า 7,750 ล้านบาท ส่ง 4 แบรนด์สำคัญเจาะทุกเซกเม้นท์ ทั้งในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ได้แก่ บ้านเดี่ยว เบลกราเวีย 25-40 ล้านบาท, แกรนด์ บริทาเนีย เริ่ม 8 ล้านบาท, บริทาเนีย 4-7 ล้านบาท และทาวน์เฮ้าส์ ไบรตัน ราคาเริ่ม 2 ล้านบาท
“ภาพรวมตลาดแนวราบ ไตรมาสสุดท้าย คงได้เห็นการไหลกลับเข้ามาของซัพพลายใหม่ๆ เพราะตั้งแต่กลางปีทุกรายชะลอกันหมด ฉะนั้นคาดตลาดจะเติบโตทั้งในกรุงเทพและภูมิภาคต่างๆ ส่วนความกังวล เรื่องโอเวอร์ซัพพลายที่เริ่มมีการพูดกัน ไม่กังวล เพราะแนวราบเป็นเรียลดีมานด์ เรายังมองเป็นโอกาส หากเศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้”
หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,723 วันที่ 17 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564