ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยกทม. ร่วงต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส

08 พ.ย. 2564 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2564 | 10:36 น.

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ หวั่น อสังหาฯไทย ไตรมาสสุดท้าย เข็นไม่ขึ้น จากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ขณะพบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยไตรมาสล่าสุด ร่วงอีก2% ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หวังรบ.ผนึกต่างชาติปลุกโค้งสุดท้าย

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์ตัวแทนซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์เบอร์ต้นของไทย เผยว่า ตลาดอสังหาฯ ไตรมาสสุดท้าย ยังคงชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังจากโควิด-19 ระลอกล่าสุดยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 178 จุด จาก 183 จุด หรือลดลง 2% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559  หรือ 19 ไตรมาส  

 

ขณะ ดัชนีราคาคอนโดมิเนียม ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลงถึง 11% ในรอบปี สวนทางกับบ้านเดี่ยวที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นถึง 6% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ทรงตัวจากไตรมาสก่อน และลดลง 1% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดฯ เป็นปัจจัยช่วยผลักดันให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยแนวราบมีการเติบโต จากการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจโครงการแนวราบมากขึ้น ประกอบกับการที่ผู้ซื้อและนักลงทุน โดยเฉพาะชาวต่างชาติหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมากกินระยะเวลายาวนาน จึงทำให้ตลาดคอนโดฯ ไม่คึกคักเหมือนที่เคย
 

อุปทานแนวราบคึกเพิ่ม10%

ขณะดัชนีอุปทานหรือจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 458 จุด จาก 428 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ข้อมูลที่น่าสนใจคือโครงการแนวราบมีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุด เป็นผลจากการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ หันมาจับตลาดนี้เพื่อตอบรับเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เห็นได้จากดัชนีอุปทานของบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 10% และทาวน์เฮ้าส์ที่เพิ่มขึ้น 8% ส่วนคอนโดฯ ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อน

 

เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาฯ เน้นจัดโปรโมชั่นเพื่อเร่งระบายสต็อกคงค้างที่มีอยู่แทนการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมทั้งเริ่มเห็นผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายราย กลับมาเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ใหม่ในช่วงปลายปี เพื่อรองรับกำลังซื้อจากต่างชาติที่กลับเข้ามาหลังเปิดประเทศ และตอบรับความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีทิศทางฟื้นตัว


หวังรัฐปลุกต่างชาติฟื้นตลาด

นางกมลภัทร ยังระบุว่า แม้ปีนี้จะมีการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ แต่ความรุนแรงของการแพร่ระบาดฯ ยังถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบ ทุกธุรกิจจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง คาดว่านโยบายการเปิดประเทศ จะเป็นอีกความหวังสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในตลาดอสังหาฯ ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากกำลังซื้อจากนักลงทุนต่างชาติยังถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ได้หายจากตลาดอสังหาฯ ไทยเป็นระยะเวลานาน

 

ประกอบกับการที่ภาครัฐมีมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง รวมทั้งร่างกฎหมายการถือครองอสังหาฯ และที่ดินของชาวต่างชาติฉบับใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้พิจารณาอสังหาฯ ในไทยมากขึ้น ต้องจับตาดูว่าภาครัฐจะมีการบริหารจัดการมาตรการเหล่านี้อย่างไรให้เห็นผลอย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์สูงสุด

 
ปลด LTV ฟื้นความเชื่อมั่น
 
ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวไทยเองยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐทั้งการสร้างความเชื่อมั่นจากการระดมฉีดวัคซีน พร้อมมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดฯ ที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม อาทิ ต่ออายุมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง พร้อมทั้งขยายเพดานที่อยู่อาศัยขึ้นมาเป็นราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จะยิ่งช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างมากขึ้น

 

นอกเหนือไปจากปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายLTV เป็นการชั่วคราว ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กลับมาได้ไวขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.1 จากระดับ 37.2 ส่งสัญญาณว่ากำลังซื้อผู้บริโภคกำลังจะฟื้นตัวอีกครั้ง ประกอบกับการที่ราคาที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีราคาไม่สูงมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีในการดึงดูดผู้ซื้อที่มีความพร้อมด้านการเงินให้ตัดสินซื้อได้ง่ายขึ้น