24 แนวทางการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
สำหรับแนวทางการทำธุรกิจให้สำเร็จ ของ 'อนันต์ อัศวโภคิน' นั้น มักกลายเป็นแบบฉบับให้นักธุรกิจรุ่นหลังๆ ยึดถือ และปฎิบัติตามหลายแง่ โดยเฉพาะ การเป็นเจ้าของกิจการ ที่สามารถครองใจคนในองค์กรได้ และบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างไรแบบมืออาชีพ ซึ่งล่าสุด บุคคลใกล้ชิด อย่าง 'ทศพล อมรพิชญ์ปรัชญา' ได้อัพเดทรวบรวมข้อคิดจาก 'อนันต์ อัศวโภคิน' จากการพูดคุยและติดตาม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน ไว้ 24 ข้อ ดังนี้
- ยอมรับว่าตัวเองไม่เก่ง เก่งสู้พนักงานไม่ได้ แต่เราต้องรู้ว่าใครเก่ง
- ยอมรับว่าลูกน้องเก่งกว่าเรา ปล่อยให้คิดและตัดสินใจ กล้าจ่ายเงินเดือนลูกน้องมากกว่าตัวเอง เราทำหน้าที่เป็นโค้ชไม่ใช่ผู้เล่น หาคนเก่งกว่าเรามาทำงานกับเรา ยากตรงที่การทำลายอีโก้ตัวเอง เพราะพนักงานที่เก่งจะเถียงเราเก่งมาก ถ้าพนักงานคิดเหมือนเราหมด บริษัทจะโตได้ยังไง
- ทำผิด กล้าประกาศอย่างเปิดเผยว่าเราทำผิด ให้คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย และแสดงให้พนักงานเห็นว่าเราเป็นคนธรรมดาทำผิดได้ เล่าจนเป็นปกติเหมือนอาบน้ำ ถูฟัน พนักงานทำผิดก็จะกล้าเล่าให้ทีมฟัง เพือเรียนรู้และจะได้ไม่ทำผิดอีก เป็นการปรับระดับน้ำความรู้ในองค์กรให้เท่ากัน
- อย่าทำตัวเป็นเทวดา ชี้ถูกผิด ให้โบนัสตามใจเรา ต้องทำสูตรให้ชัดเจน กำไรเท่าไหร่ แบ่งผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ ให้พนักงานเท่าไหร่ ประกาศอย่างเปิดเผย สิ้นปีพนักงานรู้เลยจะได้โบนัสเท่าไหร่
- ทุกคนเท่ากัน ห้องน้ำพนักงานคนรถ ต้องสะอาดเหมือนห้องน้ำที่เราเข้า กินข้าวโต๊ะเดียวกับคนรถได้ ไม่มีทดลองงาน รับแล้วรับเลย เพื่อให้หัวหน้าทุกคนตั้งใจรับคน ทุกคนเข้ามาถึงมีสวัสดิการเท่ากันหมดเลยตั้งแต่วันแรก
- ส่งพนักงานที่เราคิดว่า ลูกน้องรัก ขยัน จงรักภักดี ไปเรียนเยอะๆ ป.โท ดูงานเมืองนอก คือวิธีที่จะทำให้องค์กรเติบโต โดยไม่ต้องทำสัญญา ถ้าวันนีงเค้าลาออก แสดงว่าเราดูแลเค้าได้ไม่ดีพอ พนักงานแต่ละคนก็มีภาระไม่เหมือนกัน เราต้องดีใจที่เค้าได้งานที่ใหม่ที่ได้เงินเดือนดีขึ้น มากกว่าที่อยู่กับเรา เค้าจะได้มีเงินไปดูแลครอบครัว คุณพ่อคุณแม่เค้า
- “ไม่จำเป็นเราไม่รับพนักงานใหม่ ถ้าจำเป็นจริงๆเราก็ไม่รับ” ใช้การ improvement process และ IT เพื่อให้ทำงานได้เก่งขึ้น ดีขึ้น พนักงาน Back office ที่แก้ระบบงานไม่ได้ ได้แต่เงินเดือนไม่ให้โบนัส จะจ้างพนักงานบัญชีประสบการณ์ 20 ปีทำไม ถ้าประสบการณ์ 10 ปีก็ปิดงบได้เหมือนกัน ประสบการณ์ที่มีประโยชน์คือ ปรับปรุง process ได้ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆได้ โดยเฉพาะตอนจ้างมาไม่เคยบอกว่าจะปิดงบไม่ทัน ถึงเวลาขอคนเพิ่มตลอด เพราะฉะนั้นต้องหาทางปรับปรุง process ให้ง่ายและเร็วขึ้น
- Process และเอกสารเยอะแยะในบริษัท มากกว่า 80% เกิดจากความไม่ไว้วางใจพนักงาน ถึงต้องมีเอกสารเซ็นกันไปเซ็นกันมาเต็มไปหมด ถ้าไม่ไว้ใจเค้า ให้เค้าเป็นหัวหน้าทำไม และกฎระเบียบ เยอะแยะเพราะคนไม่ดีบางคนทำไม่ดี เลยออกระเบียบทำให้คนดีทำงานยากขึ้น เช่น ทิชชู่มีคนขโมยกลับบ้าน เราก็จะออกกฎหรือหาวิธีการเบิกทิชชู่ให้ยุ่งยากกว่าเดิม ทำให้คนดีทำงานยากขึ้น
- ไม่มีการทดลองงาน เวลารับคนต้องตั้งใจเลือกว่า พนักงานคนนี้จะทำงานกับเราตลอดไป ไม่มีการไล่ออก ยกเว้นเรื่องทุจริต จะทำให้หัวหน้างานตั้งใจเลือกพนักงานอย่างมาก และพนักงานทุกคนที่เข้ามาต้องได้รับสวัสดิการเต็มที่ตั้งแต่วันแรก
- EQ สำคัญกว่า IQ เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงทุกวันตลอดเวลา แต่ EQ สำคัญมากกว่าจะทำงานกับคนอื่นได้ไหม เก่งแต่ทำงานกับเพื่อนไม่ได้ไม่เอา ยุคนี้ไม่มี rising star มีแต่ teamwork
- เวลาลูกน้องมาถามอย่าให้คำตอบ อย่าตัดสินใจแทนลูกน้องเพราะเป็นการ Spoil ลูกน้อง การสอนพนักงานให้กล้าตัดสินใจแทนเรา คือเรื่องยากที่สุด เพราะลูกน้องทุกคน ไม่อยากตัดสินใจ เพราะกลัวผิด แล้วจะถูกต่อว่า ถูกลงโทษ เราต้องฝึกให้เค้าตัดสินใจ แม้ว่าเค้าตัดสินใจผิดเราก็ต้องอดทน ให้เค้าได้เรียนรู้ ห้ามไปตัดสินใจให้ ช่วงแรกจะยากมาก เพราะลูกน้องจะไม่ยอมตัดสินใจ และโยนมาให้เราตัดสินใจให้ตลอด เพราะเค้าจะได้ลอยตัวว่า เค้าไม่ผิด นายเป็นคนตัดสินใจ เราต้องใช้วิธีถามว่า มีทางเลือกอะไรบ้าง แล้วทำไมเลือกทางนี้ ต้องอดทนไม่บอก แม้ว่าเค้าจะตัดสินใจไม่ตรงกับเราก็ตาม
- พ่อแม่รักลูก หรือ รักกิจการของตัวเองมากกว่า บังคับให้ลูกสืบทอดธุรกิจ ทั้งๆที่ลูกไม่ได้ชอบ ไม่อยากทำ แสดงว่าเรารักธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมามากกว่ารักลูกของเรา
- คุณคิดว่า ลูกเบคแฮมจะเตะบอล เก่งเหมือนเบคแฮมไหม พ่อแม่ที่เก่ง สร้างกิจการขึ้นมา แล้วให้ลูกมารับช่วงบริหารงานต่อ เราคิดว่า ลูกเราจะบริหารงานได้เก่งเหมือนเราหรือไม่ ไม่มีใครแล้วใช่ไหมในตลาดที่เก่งกว่าลูกของเรา เราจะให้ลูกเราเป็นนักเตะ แบบเบลแฮมลงเตะบอลเก่ง หรือ จะให้เป็น ผู้จัดการทีมแบบ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่หาคนเก่งๆมาเตะบอลให้เรา
- อย่าบังคับให้บริษัทในเครือซื้อของกันเอง ทุกคนเหมือนลูกของเรา เวลาทะเลาะกันเราไม่รู้จะทำยังไง และทำให้ระบบภายในมีปัญหา โดยเฉพาะคุณภาพ
- เราต้องสนใจการทำคุณภาพของสินค้า มากกว่าสร้าง brand และก่อนขยายไปทำอย่างอื่นให้ถามตัวเองว่า เรามี market share มากพอแล้วหรือถึงอยากขยายไปตลาดอื่นที่เรายังไม่ชำนาญ
- อะไรที่ดีเราลอกหมด อย่าไปหยิ่ง การลอกไปลอกมาทำให้โลกเจริญ ฝรั่งเลยออกกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะจะได้รวยคนเดียว ดูอย่างโทรศัพท์มือถือ ใครลอก apple รอดหมด ใครไม่ลอกตายหมด
- อย่าไปดูคู่แข่งมาก จนไม่มีเวลาดูลูกค้าเรา
- โบนัส ให้จากลูกน้องทำตามเป้าหมายได้หรือไม่ ไม่ใช่จากกำไร เช่น
- บริษัท A ขาดทุน 80 ล้าน เป้าหมาย คือ กำไร 10 ล้าน
- บริษัท B กำไร 100 ล้าน เป้าหมาย 160 ล้าน
ผลปรากฏว่าสิ้นปี บริษัท A ขาดทุน 10 ล้าน บริษัท B กำไร 120 ล้าน ผู้บริหารบริษัท A จะต้องได้โบนัสมากกว่าบริษัท B เพราะผลงานได้ใกล้เป้าหมายมากกว่า เราดูจากการทำผลงานได้ใกล้เป้าหมาย ไม่ได้ดูจากกำไร เพราะถ้าดูจากกำไร จะไม่มีใครยอมไปทำงานยากๆ
- ถามตัวเองว่า มีใครเก่งกว่าเราในบริษัทไหม ถ้าเราเป็นเจ้าของแล้ววันนี้มองไปทางไหนแล้ว ไม่มีใครในบริษัทเก่งกว่าเราเลย เตรียมเจ๊งได้เลย แสดงว่าเราจะต้องบริหารจนวันตายใช่ไหม แล้วถ้าเราไม่อยู่บริษัทจะอยู่ยังไง ถ้าเรามีคนเก่งกว่าเราในบริษัทมากๆ เมื่อเราไม่อยู่บริษัทจะเจริญรุ่งเรืองกว่าตอนเราอยู่แน่นอน เราต้องตอบตัวเองให้ดี
- ธุรกิจครอบครัว ก็สามารถบริหารแบบมืออาชีพได้ ถ้าทุกคนทำตามกติกาที่วางไว้ ไม่ออกนอกกฎที่วางไว้ร่วมกัน
- อยากรู้ว่า เรามี DNA เป็นเจ้าของกิจการไหม ให้ดูว่าเราชอบทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ไหม เพราะเจ้าของกิจการจะชอบทำงาน 7 วัน ไม่อยากให้มีวันหยุด
- เราต้องกล้าตั้งลูกน้องที่มีความสามารถมาเป็นหัวหน้า โดยไม่สนใจความอาวุโส ถ้าคนไหนเก่งกว่า ความสามารถมากกว่า ต้องแซงขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ แม้ว่า คนที่เค้าแซงจะเป็นคนที่เคยสัมภาษณ์เค้าให้เข้ามาทำงานก็ตาม
- ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ เราต้องมีความสามารถในการพึ่งใจตนเองได้ โดยไม่ต้องไปขอกำลังใจจากใคร และ ช่วงที่เราลำบาก ธุรกิจลำบาก อย่าทิ้งลูกน้อง
- เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีความสุข เพราะเราหาความสุขใส่ตัว หรือเรามีความสุข เพราะเราเห็นคนอื่นมีความสุข เวลาเราได้กำไร เราลงทุนในบริษัท ซื้อของให้ดีขึ้น มือถือใหม่ คอมพิวเตอร์ใหม่ ให้พนักงานทำงานสะดวกขึ้น และเอามาลงทุนกับสวัสดิการพนักงาน ให้พนักงานมีสวัสดิการที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น ดูแลพ่อแม่ได้ดีขึ้น เลี้ยงลูกได้ดีขึ้น มากกว่า เอามาใช้กับตัวเอง