ลุยจัด 'ผังเมือง'กทม.เทียบญี่ปุ่น ชู 'พระโขนง-บางนา'โมเดล

09 มิ.ย. 2565 | 07:22 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 14:28 น.

'ชัชชาติ' ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ พร้อมปรับใช้ การจัดรูปที่ดินของญี่ปุ่น และ สร้างงานในย่าน พัฒนา 'ผังเมือง' กทม. ชู 'พระโขนง-บางนา' เป็นโมเดล

9 มิ.ย.2565 - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาย่านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องได้รับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ภาคเอกชน ประชาชน และนักวิชาการ ในการพัฒนาร่วมกัน โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยความสะดวก

 

แต่สิ่งสำคัญที่ยังแก้ไม่ได้ทันทีและต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไปคือเรื่องผังเมือง เพราะปัจจุบันที่พบในการสร้าง ไม่ใช่การคำนึงว่าควรจะสร้างอะไร แต่เป็นการสร้างที่ดินให้มีมูลค่าสูงสุดได้อย่างไร เราจึงเห็นคอนโดมากมาย แต่มีสวนสาธารณะไม่มากนัก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเห็นภาพรวมของเขตหรือย่านที่มีความสมดุลกัน  
    

ยกการจัดรูปที่ดินญี่ปุ่น สร้างสมดุลพื้นที่

สำหรับเรื่องของผังเมือง แนวคิดการจัดรูปที่ดินของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความน่าสนใจและน่านำมาปรับใช้ เพราะจะเป็นการสร้างสมดุลพื้นที่ ปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีการร่วมรับภาระและกระจายผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายและใช้ระยะเวลา เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน 

ลุยจัด \'ผังเมือง\'กทม.เทียบญี่ปุ่น  ชู \'พระโขนง-บางนา\'โมเดล
 

“ที่ผ่านมา ตลาดงานไปกระจุกตัวอยู่ใจกลางเมือง คนจึงเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปทำงาน ดังนั้น หากจะพัฒนาย่าน งานก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ควรมีการกระจายแหล่งงาน สร้างงานในย่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบที่ขยายไปสู่การพัฒนาย่านอื่น ๆ ต่อไป ขอให้ร่วมกันทำให้สำเร็จ แม้อาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน 10 ปี หรือ 20 ปี แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งกรุงเทพมหานครก็พร้อมจะสนับสนุนทุกด้าน” 


พระโขนง-บางนา 2040 อนาคต ความฝัน ย่านของเรา

ทั้งนี้ วานนี้ ผู้ว่าฯ กทม. เข้า รับฟังการนำเสนอสาธารณะ “พระโขนง-บางนา 2040 อนาคต ความฝัน ย่านของเรา our neighborhoods, our dreams, our futures” โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น 

 

ภายใต้แนวคิด ต้องการผลักดัน ให้ ย่านพระโขนง-บางนา เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สำคัญที่ได้รับความสนใจและมีพลวัต ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในอดีต จากพื้นที่เกษตรกรรม มีวิถีชีวิตริมน้ำ จนมาเป็นอุตสาหกรรมชานเมือง และปัจจุบันเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนถูกวางให้เป็นพื้นที่ต้นแบบย่านนวัตกรรมดิจิทัลโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติด้วย