รื้อผังเมืองรวมกทม. โซนตะวันออก “ฟลัดเวย์”ป้องน้ำท่วมยังจำเป็น

28 ต.ค. 2565 | 14:52 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 22:18 น.

นักอนุรักษ์ รวมพล ชงชัชชาติ รื้อผังเมืองรวมกทม. โซนตะวันออก ดึง“ฟลัดเวย์”ป้องน้ำท่วม คืนมา ชี้ยังมีความจำเป็น

 

 การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่4) ของทีมผู้บริหารชุดก่อน ได้พิจารณาปรับพื้นที่ฟลัดเวย์ทุ่งรับน้ำโซนตะวันออกกทม. ให้แคบลง พื้นที่เกือบ1แสนไร่ ครอบคลุมเขตคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก บางบริเวณ ลดเหลือเพียง 34,204 ไร่

 

ส่งผลให้ ที่ดินนอกแนวเขตดังกล่าว มีมูลค่าสามารถ ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จากการปรับสีผังพื้นที่เขียวทะแยงขาว(อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) เป็นพื้นที่สีเขียว (ชนบทและเกษตรกรรม) เพิ่มความถี่ในการพัฒนา  และทดแทนพื้นที่รับน้ำที่หายไปด้วย การขุดคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ คู่ขนานไปกับการก่อสร้างถนนให้สัญจรตามแนวคลอง ตั้งแต่ คลองสามวา  คลองหนองงูเห่า อ้อมสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุปราการทะลุ ลงอ่าวไทย

 

 

  

นอกจากนี้ยังมีแผนเวนคืนขุดบึงอีก 6แห่ง ไม่รวมแก้มลิงที่ขอความร่วมมือใช้พื้นที่ภาคเอกชนตามหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ

 

คึกคักได้ไม่นาน  ผังเมืองใหม่  ที่เตรียมจะประกาศใช้   ตามพระราชบัญญัติ การผังเมืองพ.ศ.2518  ต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้แทน จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายปัจจุบัน  ประกอบกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม. และปีนี้(2565) เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างโดยเฉพาะลาดกระบัง

 

เป็นเหตุให้ปมปรับลดพื้นที่ฟลัดเวย์ กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอีกครั้ง เมื่อกลุ่มอนุรักษ์โซนตะวันออก กทม. ร้องต่อนายชัชชาติ ให้คงสภาพแนวฟลัดเวย์ เพื่อใช้สำหรับเป็นพื้นที่ชะลอน้ำ ที่ไหลบ่ามาจากทางตอนเหนือ จังหวัดปทุมธานี

 

ผ่านคู่คลองธรรมชาติ เข้าทุ่งตะวันออก ชะลอน้ำไม่ให้เข้าท่วมย่านเศรษฐกิจสำคัญ อีกทั้งหากปล่อยให้นำพื้นที่อนุรักษ์เขียวทะแยงขาวออกพัฒนาจะทำให้ การแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคตลำบากมากขึ้น  เพราะปัจจุบันมีแต่การถมดินก่อสร้างอาคารสูง รวมไปถึงรถไฟฟ้า หากลงทุนขุดคลอง บึง แน่นอนว่าไม่ง่ายเช่นเดียวกัน

 

ต่อเรื่องนี้ วงในกทม.ออกมายอมรับว่า พื้นที่ฟลัดเวย์ โซนตะวันออก  92,265ไร่  ต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง ตามขั้นตอน  ซึ่งที่ดิน 58,061ไร่  ที่มีโอกาส เติบโตต้องรอจนกว่าจะได้ข้อสรุป   แต่ทั้งนี้ยังมีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นปิดประกาศ90วันให้อุทธรณ์

 

สำหรับโครงการบึงรับนํ้า หรือแก้มลิงป้องกันและบรรเทานํ้าท่วมระยะยาวจำนวน 6 แห่ง พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ที่จะทดแทนการบีบแนวฟลัดเวย์ให้แคบลง นอกจากการขุดคลอง ได้แก่ 1. โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองลำหม้อแตก  เขตสายไหม รองรับปริมาณนํ้า 1 ล้าน ลบ.ม.

 

2. โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองพระยาสุเรนทร์ คลองสามวาตะวันออก รับนํ้าได้ 1.9 ล้านลบ.ม.3.โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองคู้บอน เขตคันนายาว รับนํ้าได้ 8.7แสนลบ.ม.4.โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองบางชัน เขตมีนบุรี รับนํ้าได้ 2.6แสนลบ.ม.5.โครงการบึงรับนํ้าบริเวณคลองสามวา 1 เขตคลองสามวา รบนํ้าได้ 8.5 แสนลบ.ม.และ 6. โครงการบึงรับนํ้า บริเวณคลองสามวา 2 เขตคลองสามวา รองรับนํ้าได้ 8.9 แสนลบ.เมตร

 

 

ทั้งนี้พื้นที่โซนตะวันออกกทม.ถูกกำหนดให้เป็นแนวฟลัดเวย์ หรือทุ่งรับน้ำขนาดใหญ่ รับน้ำเหนือลงสู่อ่าวไทย ตามข้อบังคับ ของผังเมืองรวมกทม. นับตั้งแต่ปี 2535 ใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียวทะแยงขาว)

 

ครอบคลุมบางบริเวณท้องที่เขตคลองสามวา, ลาดกระบัง มีนบุรี และหนองจอกบางบริเวณ เนื้อที่ 3 แสนไร่ เงื่อนไขห้ามสร้างปลูกสร้างอาคารทุกประเภทเว้นแต่ ที่อยู่อาศัยปลูกสร้างเองเพื่อการเกษตรกรรม บ้านจัดสรรขนาด 1,000 ตารางวาหรือ 2.5 ไร่

 

         

กลับกันในทางปฏิบัติ 30 ปี ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะผู้ประกอบการมักใช้กฎหมายอื่นหลบเลี่ยง เข้าบุกรุกทำประโยชน์ อีกทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ รอยต่อระหว่าง กทม.กับสมุทรปราการ  ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่  ตั้งขวางทางน้ำ ทำให้เหลือพื้นที่ฟลัดเวย์ปัจจุบันไม่ถึง 1 แสนไร่

 

        

 ย้อนไปในช่วงปรับปรุง ผังเมืองแต่ละฉบับ มักมีกลุ่มเจ้าของที่ดิน นักการเมือง ผู้ประกอบการเรียกร้องให้แก้ไข ยกระดับฟลัดเวย์เป็นทำเลพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกกฎหมาย เสนอขุดคลองระบายน้ำบายพาส รับน้ำเหนือจากอยุธยาลงอ่าวไทย  และให้นำที่ดินฟลัดเวย์พัฒนาเมือง รองรับคนเข้าพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน จากการมาของรถไฟฟ้า 2 สาย สีชมพูและสีส้ม

 

 

การเรียกร้อง แก้ปัญหาพื้นที่ฟลัดเวย์มีเหตุผลทั้งสองฝ่าย แต่ เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ คือพลังธรรมชาติ   !!!  

รื้อผังเมืองรวมกทม. โซนตะวันออก “ฟลัดเวย์”ป้องน้ำท่วมยังจำเป็น