กรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่สีเขียว กระจายในทุกพื้นที่เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นพิษต่อมนุษย์แล้ว ยังช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ ลดฝุ่นพิษ PM2.5 เขม่าควันจากท่อไอเสียและการเผาไหม้ ที่นับวันจะวิกฤตรุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกันยังช่วยให้ร่มเงาสำหรับผู้คนที่สัญจร นอกจากนโยบายทำกรุงเทพให้เขียวแล้ว ยังมีโครงการสวนสาธารณะ 15 นาที ส่วนหนึที่เกิดจากการนำพื้นที่ว่างขนาดเล็กมาพัฒนาใส่ราบละเอียด พื้นที่สวนขนาดจิ๋ว ส่งเสริมให้มนุษย์เมืองได้ ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ คลายร้อน ตามนโยบายหนึ่งในนโยบายเส้นเลือดฝอยของนายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ซึ่งปัจจุบันทยอยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
ล่าสุด สำนักงานเขตลาดพร้าวอยู่ระหว่างนำที่ดินรกร้าง เนื้อที่กว่า 400ตารางวาที่ผู้ประกอบการธุรกิจบ้านจัดสรร มอบให้ ทางกรุงเทพมหานครก่อนหน้านี้ นำมาพัฒนา คาดว่า ใช้เวลาไม่เกิน 1-2เดือน นับจากนี้จะเปิดให้บริการประชาชน
จากเป้าหมาย ปี 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.)สามารถเปิดสวน 15 นาทีได้เพิ่มอีก 40-50 แห่ง ขณะการเปิดสวนได้มากหรือน้อยอยู่ที่ที่ดินที่จะได้มา รวมถึงทำเลที่ตั้งต้องอยู่ในโซนชุมชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ตามความเหมาะสม
แหล่งข่าวจากกทม. กล่าวว่า กรณีที่ดินที่ได้มามีจำนวนหลายแปลง แต่ละสำนักงานเขตฯจะเร่งปรับปรุงที่ดินบริเวณนั้นให้สามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ต้องการพื้นที่สีเขียวสำหรับออกกำลังกาย เดินเล่น หรือพักผ่อนในยามว่าง
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบ ความหมายและเงื่อนไข ของสวน15นาที ตามแนวนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีดังนี้
พื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที
ปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง (outdoor public space) หรือที่ทำกิจกรรมออกกำลังหรือพักผ่อนหย่อนใจได้มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด ทั่วทั้งกทม. มีสวนสาธารณะหลัก 40 แห่ง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ ที่ใช้งานได้กระจายอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามปรากฏข้อมูลไม่แน่ชัด
เนื่องจาก ได้ทำฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวโดยจัดกลุ่มเป็นสวน 7 ประเภท ได้แก่
1.สวนเฉพาะทาง
2.สวนชุมชน
3.สวนถนน
4.สวนระดับเมือง
5.สวนระดับย่าน
6.สวนหมู่บ้าน
7.สวนหย่อมขนาดเล็ก
ส่วนสวนไม่ได้ระบุประเภท รวมพื้นที่ 41,327,286.489 ตารางเมตร
การจัดกลุ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะนี้ไม่สามารถแยกได้ว่าสวนไหนใช้งานได้หรือไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สวนถนน นับรวมสวนไหล่ทาง สวนเกาะกลาง หรือ สวนหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนอาจไม่สามารถเข้าใช้ได้หรือเข้าใช้ได้น้อย
ขณะเดียวกันกลับมีพื้นที่รวมกันมากถึง 18,602,682.9 ตารางเมตร คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สีเขียวทั้งหมดเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนได้ใกล้บ้าน กทม. จึงมีนโยบายทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งได้ด้วยการเดิน ดังนี้
การเพิ่มพื้นที่ใหม่
1.กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที
2.หาพื้นที่พัฒนา pocket park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอพื้นที่ศักยภาพน่าพัฒนา
3.อาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี
4.เปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการ อาทิ โรงเรียน สำนักงานต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา
5.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน (privately owned public space: POPS) ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น ดูแลต้นไม้และทำความสะอาดพื้นที่โดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น
ควบคู่กับการเพิ่มจำนวนสวน กทม.จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสวน โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลและจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการพักผ่อนและการสันทนาการของประชาชน
การพัฒนาพื้นที่เดิม
1.พัฒนาลานกีฬาทั้ง1034แห่ง ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เนื่องด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการกระจายตัวมากที่สุด และกระจายตัวเข้าไปในแหล่งชุมชนอยู่เดิมแล้ว
2.เพิ่มมิติด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่เดิมเช่นลานกีฬา ด้วยการเพิ่มไม้พุ่ม ไม้ประดับ หรือสวนแนวตั้ง เพื่อเพื่มมิติการใช้งาน และสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น
การพัฒนาฐานข้อมูล
ปักหมุดทำฐานข้อมูลสวน 15 นาที โดยเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมสวนที่ประชาชนสามารถใช้งานได้จริง และเปิดเป็น open data เป็นต้น
ทั้งนี้ พื้นที่เล็กๆแทรกตัวตามชุมชน สามารถจุดประกายเป็นสวนใช้ประโยชน์แก่คนส่วนรวมได้ หากทุกคนให้ความร่วมมือสวน15นาที จะอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป!!!