5 ปี ยุทธศาสตร์ LPN จากภาพจำ สู่ การพลิกโฉมครั้งใหญ่

24 ก.พ. 2566 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 08:48 น.

จับตา บิ๊กอสังหาฯ รายเก่าแก่ LPN ทรานฟอร์มครั้งใหญ่ พับแบรนด์ "คอนโดลุมพินี" ขึ้นหิ้ง ลุยดันตระกูลแบรนด์ "168" ลงสนามบ้าน-คอนโดฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ 5 ปี สู่รายได้ 5 หมื่นล้าน กับเป้าหมายท้าทาย 1 ใน 5 TOP OF MIND ผู้บริโภคยุคใหม่

24 กุมภาพันธ์ 2566 - การประกาศกลับมาเปิดโครงการใหม่มากสุดในรอบ 10 ปี มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท พร้อมพลิกโฉม เปลี่ยนภาพลักษณ์ ตั้งแต่โลโก้ ไปจนถึง ชื่อแบรนด์ ดัน "168 " ลงสนามตลาดที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง ของ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ที่รู้จักกันในนาม ' คอนโดลุมพินี ' ไม่ต่างจากกลับมาทวงพื้นที่สื่อ และ ปลุกชีพ 'ดาวเด่น' ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ผ่านภาพจำ "เมื่อพูดถึงลุมพินี คนจะนึกถึง โครงการขนาดใหญ่ หนาแน่น อีกแง่ ก็มีคุ้มค่า และความรับผิดชอบ " 

ทำให้ นาทีนี้ คงได้เฝ้าจับตามอง ว่าบิ๊กอสังหาริมทรัพย์รายเก่าแก่รายนี้ จะปรับตัวเข้าหาผู้บริโภคยุคใหม่อย่างไร เมื่อ ปี 2566 ขยับเต็มตัว ตามโรดแมป 5 ปี (2565-2569) เพิ่มรายได้รวมสู่ 5 หมื่นล้านบาท กำไรต้องโตอย่างน้อยปีละ 10% แต่สิ่งที่ท้าทายกว่า คือ การตั้งเป้าหมาย ขึ้นเป็น 1ใน 5  TOP OF MIND (แบรนด์ในใจผู้บริโภค) ภายใต้การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆของตลาดอสังหาฯ อีกทั้งยังมีปัจจัยนอกเหนือการควบคุมคอยจะปะทะอยู่ตลอดเวลา ...
 

5 ปี ยุทธศาสตร์ LPN  จากภาพจำ สู่ การพลิกโฉมครั้งใหญ่

5 ปี LPN ที่ถูกลืม

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LPN กล่าวว่า ปี 2566 นับเป็นไทม์ไลน์สำคัญของบริษัท หลังก่อตั้งมานาน 34 ปี และเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายครั้งหลายคราว แม้แต่ยุคเกือบจะล้มละลาย ปี 2540 ก่อนกลับมายืนได้ - ปรับตัว - รุ่งเรือง ก่อนช่วง 4-5 ปีที่่ผ่านมา ชื่อของ แอล.พี.เอ็น. ถูกกลืนหายไปจากวงการอสังหาฯ ซึ่งมาจาก ความระแวงระวังในการลงทุน และเคยผวาแง่ 'ฐานะการเงิน'เมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง เน้นถอยเพื่อตั้งรับ โดยราวช่วงปี 2561บริษัทเห็นสัญญาณ ขาลงของอสังหาฯ และเริ่มชะลอการลงทุน พัฒนาโครงการใหม่ ตั้งแต่บัดนั้น เพื่อตั้งรับสถานการณ์ ก่อนทุกธุรกิจประสบกับวิกฤติโควิด-19 ซ้ำ

ขณะเดียวกัน การไม่เปิดโครงการใหม่เลย ทำให้ยอดขาย และ รายได้ของบริษัทก็หดหายไปด้วย ข่าวสารในหน้าสื่อก็ไม่ปรากฎ แต่อีกแง่ นั่นเป็นช่วงที่มีความหมาย มีการปรับองค์กร ทบทวนโมเดลธุรกิจ แนวคิด และ โปรดักส์ เพื่อจะใช้เป็นฐาน เดินหน้าต่อ ชูจุดแข็ง บริษัทอสังหาฯที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยสุด แก้ปัญหาเร็ว และการบริหารชุมชนน่าอยู่

Next Step โรดแมป 5ปี 

ยุทธศาสตร์ใหญ่ของ แอล.พี.เอ็น ที่ถูกประกาศไว้ตั้งแต่ปีก่อน คือ การเทริ์นอะราวด์ ปั้นรายได้รวมสู่ 5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2569 กำไรเติบโตอย่างน้อยปีละ 10% ซึ่งนายโอภาส ระบุว่า ปีนี้ จะเป็นปีแรก ที่แผนงานที่วางไว้นั้น จะผลิดอกออกผล หลังจากเริ่มนับ 1 ปี 2565 เร่งเคลียร์สต็อกโครงการเหลือขายออกไปเป็นจำนวนมาก เพื่อดึงกระแสเงินสดออกมาได้สำเร็จ 

"ช่วง 4-5ปี บริษัททำงานอย่างหนัก ขณะโควิด แทบขยับไม่ได้ ทำได้แค่ต่อสู้กับสถานการณ์ ลดต้นทุน รักษาเงินสด เพื่อดันให้ LPN กลับมาอยู่หน้าฉากอสังหาฯอีกครั้ง แม้เป้าหมายทางรายได้ 5 หมื่นล้าน ยังห่างไกลจากรายใหญ่ๆ แต่นี่เป็นแค่ส่วนเดียวที่เราให้ความสำคัญ"

คีย์แมน LPN เล่าต่อว่า แม้ปี 2566 ภาพใหญ่ยังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ เพราะเศรษฐกิจโลกก้าวขาสู่คำว่า 'ถดถอย' ,อัตราดอกเบี้ยแนวโน้มสูง ,การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังเลือกตั้ง บริษัทจึงยิ่งต้องวางแผน ยกระดับการบริหารจัดการ เพื่อให้การเติบโตเกิดขึ้นได้จริง และ แข็งแกร่ง ยั่งยืน 

5 ปี ยุทธศาสตร์ LPN  จากภาพจำ สู่ การพลิกโฉมครั้งใหญ่

เปิดใหม่ 17 โครงการ พร้อมรุกต่างจังหวัด 

นายโอภาส ขยายความ การรุกทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และปรับโฉมภาพลักษณ์  แอล.พี.เอ็น เสียใหม่ ว่า ปีนี้ จะเป็นปีแรกที่บริษัทกลับมาเปิดโครงการมากที่สุด ที่ 17โครงการ มูลค่ารวม 1.4 หมื่นล้านบาท วางเป้าหมายรายได้รวม 7.6พันล้านบาท โตขึ้น 20 % ขณะ มีกำหนดเริ่มส่งมอบโครงการปีนี้อีก 14 โครงการ เช่น  ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 (เฟส 3) บ้าน Residence 168 ราชพฤกษ์,Maison 168 เมืองทอง และ Villa 168 เวสต์เกต เป็นต้น

จุดที่น่าสนใจ คือ เป็นปีแรก รอบ 5 ปี ที่บริษัทจะขยายการพัฒนาโครงการออกสู่ต่างจังหวัดอีกครั้ง หลังจากเคยเปิดตัวคอนโดฯใน อุดรธานี ชลบุรี พัทยา และชะอำ มาแล้ว เนื่องจาก   เห็นโอกาสการขยายตัวของเมือง เส้นทางคมนาคม และความต้องการของผู้ซื้อ  โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะ   ในทำเลอีอีซี ซึ่งเดิมเราเน้นแต่โปรดักส์คอนโด ซึ่งพอเซกเม้นท์ดังกล่าวมีปัญหา ทำให้บริษัทมีปัญหาไปด้วย แต่หลังจากนี้จะเพิ่มจุดโฟกัสใหม่ๆ หลายๆจุด เพื่อกระจายความเสี่ยง

"ปีแรกนำร่อง 3 โครงการในต่างจังหวัด เช่น นครปฐม และ ย่านนิคมอมตะ อีอีซี ที่กำลังเจราอยู่หลายแปลง จะเปิดทั้งคอนโดฯและบ้าน เพราะดีมานด์ที่อยู่อาศัยสูงมาก ในทำเลอีอีซี  "

ทั้งนี้ บริษัท มียอดรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 1,845 ล้านบาท ที่จะสร้างรายได้ในปี 2566-2568 และสต็อกคงเหลืออีก มูลค่า 7พัน ล้านบาท

5 ปี ยุทธศาสตร์ LPN  จากภาพจำ สู่ การพลิกโฉมครั้งใหญ่

ดันโครงการตระกูล "168"ปั้นแบรนด์ 

ภายใต้แผนการลงทุน ไม่ปรากฎชื่อโครงการแบรนด์ 'ลุมพินี' เหมือนในอดีต ซึ่งนั่นเป็น 1 ในกลยุทธ์ที่น่าคิดต่อ และถือว่าเป็นการท้าทายตลาดครั้งใหญ่ นายโอภาส ชี้แจงประเด็นนี้ ว่า แบรนด์ตำนาน ภาพจำของบริษัท ยังคงขึ้นหิ้ง แต่ปัจุบัน ประเมินสถานการณ์ยังไม่เหมาะในการนำมาแข่งขัน ซึ่งภายใต้เป้าหมาย ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์ เพื่อให้เข้ากับกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ๆ และการเปลี่ยนโลโก้ครั้งล่าสุด นับเป็นการปักหมุดใหม่ของแบรนด์ LPN  ที่มาพร้อมกับ แบรนด์ “168” ที่จะนำหน้าในทุกโครงการบ้านและคอนโดในปีนี้ เช่น Residence 168 ,Venue 168 , Haus 168 และ Maison 168 ในช่วงราคา คอนโดฯตั้งแต่เริ่มต้น 1.5 ล้านบาท - 3 ล้านบาท ,ทาวน์เฮ้าส์ ราว 3 ล้านบาท และบ้านพรีเมียม เริ่ม 8 ล้านบาท ไปจนถึง 30-50 ล้านบาท

" เราต่อสู้กับคำถาม ว่าควรจะแค่รีแบรนด์ หรือ สร้างแบรนด์ใหม่ ท้ายที่สุด เราต้องการสร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เป็นผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทกับตลาด โดยไม่เสี่ยงจะทำให้แบรนด์ ลุมพินี เสียหาย ภาพที่เคยติดกับโครงการใหญ่ ยูนิตเยอะ เราจะปรับให้ตรงความต้องการมากขึ้น "

สิ่งที่ LPN ทิ้งท้ายไว้ ว่าภายใต้สภาวะเศรษฐกิจยังท้าทาย และมีปัญหาต้นทุนสูง อสังหาฯเลี่ยงไม่ได้ คือ 1.ต้องควบคุมต้นทุน แม้ในความเป็นจริงจะยากมากแต่ต้องทำ 2.ปรับราคาขึ้น และ 3.ยอมปรับลดกำไรลง ซึ่งถ้าทำได้ทั้ง 3 ขาพร้อมๆกัน จะช่วยขับเคลื่อนตลาดให้ไปต่อได้ และ พยุงผู้บริโภค

5 ปี ยุทธศาสตร์ LPN  จากภาพจำ สู่ การพลิกโฉมครั้งใหญ่