8 มีนาคม 2566 - การเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น 7 พฤษภาคม 2566 กลายเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดทิศทางการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้ หลังจากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ ชี้ว่า
ปัจจัยท้าทายดังกล่าว อาจทำให้ ผู้บริโภค-นักลงทุน ชะลอการตัดสินใจซื้อโครงการที่อยู่อาศัยในระยะต้นปี เพื่อขอรอดูนโยบายภาคอสังหาฯ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ก่อนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อทิศทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น
เช่นเดียวกับ มุมมองของผู้พัฒนาอสังหาฯ ชั้นแนวหน้าหลายราย ที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ และ วางรากฐานการเติบโตของอสังหาฯในระยะยาว
โดย นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งสำคัญของไทย ช่วงเดือนพ.ค.ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ท้ายที่สุดคงช่วยเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศได้อย่างแน่นอน ซึ่งมีผลต่อการลงทุนของต่างชาติ และเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักธุรกิจ ก่อผลดีต่อเศรษฐกิจตามมา
“เลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจ เพราะพบแต่ละพรรคการเมือง มีคนเก่งมากมาย แต่จะดีกว่านั้น หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สำเร็จลุล่วงได้ ผ่านการจับมือของพรรคทีมเดียวกัน เพราะหวั่น หากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ อาจส่งผลต่อความมั่นคงในแนวนโยบายต่างๆ ภายหลัง”
ด้าน นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง เคยยอมรับปีนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ ยังมีความท้าทายต่อ ขณะการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่หลายสถาบันปักธงไว้เป็นบวก เป็นเพียงตัวสะท้อนอย่างหนึ่ง เพราะยังมีหลายปัจจัยต้องติดตาม เช่น แนวโน้มของวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย
อย่างไรก็ดี “การเลือกตั้ง” ของไทย คงจะช่วยให้เกิดความคึกคักในระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น พบหลายพรรคการเมืองมีนโยบายที่น่าสนใจ การหาเสียง ชูแคมเปญ เพิ่มค่าแรง เพิ่มเงินเดือนคนจบใหม่ ด้วยตัวเลขที่แตกต่างกัน ถือเป็นกลไกทางการเมืองที่น่าสนใจ และน่าติดตาม ยิ่งในระยะยาว หากแนวทาง การสร้างงาน สร้างอาชีพ ของพรรคการเมือง ทำได้จริง มองอสังหาฯก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย
ทั้งนี้ นายปิยะศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์เอ็กซ์ จำกัด กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินทิศทางอสังหาฯไทยปีนี้ ว่า คงจะปรับเข้าสู่ฐานเดิม หลังจากปี 2565 ฟื้นตัวมาก พบยอดขายโตถึง 21% จากแรงหนุนมาตรการผ่อนคลาย LTV และภาครัฐใช้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองในอัตราสูง รวมถึงขณะนั้น ดอกเบี้ยยังตํ่า ทำให้ลูกค้าเร่งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์อย่างคึกคัก
อย่างไรก็ดี ปีนี้ อาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่จะเป็นการเติบโตแบบ Organic Growth แทน ขยาย 4-5% เพราะแม้จะมีภาพเศรษฐกิจที่เป็นบวก จากท่องเที่ยวมาหนุนกำลังซื้อในระบบ แต่ผู้บริโภค ยังเสี่ยง
จากแนวโน้มดอกเบี้ย ที่คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง มาหยุดที่2% เพื่อปราบเงินเฟ้อสูง 5% และ แรงกดดันจากการกลับมาใช้ LTV อีกครั้ง ทำให้ผู้บริโภคระดับล่างกระทบ เริ่มเห็นแนวโน้มสินเชื่อชะลอตัว ซึ่งจะฉุดดีมานด์อสังหาฯในระยะต่อไป บวกกับฝั่งผู้ประกอบการ เผชิญต้นทุนการเงิน ,การพัฒนาเพิ่ม (วัสดุก่อสร้าง
ขณะนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ระบุว่าปีนี้ทั้งนโยบายการคลัง และ นโยบายการเงินที่เคยนำมาใช้ในระบบ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเป็นห่วง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงระดับ 87%ต่อจีดีพี จะกระทบ กำลังซื้อบ้าน ของคนรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ว่าจะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน กลุ่มนี้ในระยะต่อไปอย่างไร เพิ่มเติมจากมาตรการเดิม ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ให้กับบ้านตํ่ากว่า 3 ล้านบาทที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน