เมื่ออำนาจกลับมาอยู่ที่รอยขีดปากกา บนบัตรเลือกตั้ง ของคนไทย 52 ล้านคนอีกครั้ง หลังจากมีพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 มีผล 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 - 60 วัน โดยคาดกันว่า การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เปิดหน้าฉากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะเกิดขึ้น วันที่14 พ.ค. นี้
ในทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ต่างกันจากชิงชัยของ 2 ขั้วอำนาจเดิม และยังไม่สามารถคาดเดา ผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ แต่อีกแง่ 'ข่าวยุบสภา' ที่ออกมา คือ ความหวัง จุดเปลี่ยนประเทศ ขอเพียงรัฐบาลใหม่มีวิชั่นติดสปีดกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะภาพใหญ่โลกช่วงปีนี้ เต็มไปด้วยความท้าทาย ขณะการส่งออกไทยติดหล่ม คู่ค้าเศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อในประเทศยังรอการสนับสนุน
นี่จึงเป็นคาดหวังของเอกชนไทย เช่นเดียวกับ ในภาคอุตสาหกรรมใหญ่ 'อสังหาริมทรัพย์ และ การก่อสร้าง' ซึ่งมีมูลค่าต่อปีนับ 8-9 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมา นับเป็นอีกแรงหนุนสำคัญต่อ จีดีพีไทย ขณะล่าสุด ทั้ง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ พร้อม นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผย 'ฐานเศรษฐกิจ'
ถึงอนาคตใหม่ว่า มองไปข้างหน้า ไม่ได้ต้องการแค่ประชาธิปไตย แต่อยากเห็น แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่วนสนับสนุนภาคอสังหาฯใหม่ๆ อย่างเป็นรูปธรรม จาก ว่าที่รัฐบาลใหม่ และ นายกรัฐมนตรีคนใหม่
โดยเฉพาะ การผ่าทางต้นด้านต้นทุน และไถ่กลบอุปสรรคของผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับ แรงหนุนใหม่ๆ ที่จะสร้างโอกาสให้อสังหาฯไทย ช่วยผลักดันเศรษฐกิจในโลกหน้า ทดแทน การส่งออก ที่อ่อนแรงลง
ไร้วี่แวว นโยบายเพื่อ "ที่อยู่อาศัย"
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า แม้ข่าวยุบสภา จะเป็นเหมือนแสงสว่าง ของอนาคตประเทศไทย โดยวันนี้ ได้เปิดโอกาสให้ 'พรรคการเมือง' ต่างๆ เดินหน้าหาเสียงกันอย่างเต็มตัว แต่จุดที่น่าเสียดาย คือ ยังไม่เคยเห็นมีพรรคการเมืองไหนเลย ชูนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ 'ที่อยู่อาศัย'ของคนไทย โดยภาคธุรกิจอสังหาฯ เราอยากเห็นแนวความคิดของแต่ละพรรคการเมือง เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่าจะสนับสนุน ให้คนไทยมี 'ที่อยู่อาศัย' เป็นของตัวเอง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว อย่างไร
อีกทั้ง มองบริบทความสำคัญของอสังหาฯ กับเศรษฐกิจในทิศทางไหน เพราะขณะนี้ ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเปราะบาง จากเหตุ การส่งออก ส่งสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ปลายปี 2565 จากผลกระทบเศรษฐกิจโลก มีปัจจัยปั่นป่วน จนคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ขยับ และยังห่างชั้นจากช่วงวิกฤติโควิด19
ทั้งนี้ 'ภาคที่อยู่อาศัย' เปรียบเป็นสารตั้งต้น ของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการใช้วัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง แรงงาน และ อื่นๆภายในประเทศมหาศาล ถ้าภาคธุรกิจนี้หมุนได้ดี มองจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะธุรกิจนี้จะไปต่อได้ คงมาจาก 3 แรงหนุน คือ 1.การปรับตัวของผู้ประกอบการ ซึ่งวันนี้ทุกรายดำเนินการกันอย่างแข็งขันอยู่แล้ว 2.การกระตุ้นจากรัฐบาล - หน่วยที่เกี่ยวข้อง และ 3.การลดอุปสรรคต่างๆในฝั่งผู้ซื้อ และ ผู้ขาย
"เราอยากฟัง และ อยากเห็น ไอเดีย ของพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวข้องกับภาคที่อยู่อาศัย วันนี้ไม่อยากชี้นำ เพราะเชื่อว่า อาจมีนโยบายที่น่าสนใจ และแปลกใหม่ กว่าชุดความคิดเดิมๆที่ภาคอสังหาฯเคยนำเสนอ ท้ายที่สุดจะเกิดขึ้น ก็เมื่อมองว่าภาคอสังหาฯจะช่วยเศรษฐกิจได้ "
รัฐบาลต้องกล้า หนุน "เอกชน"นำทาง
ขณะ นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ความเห็นว่า แม้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่เชื่อว่า ตัวบุคคล และ แนวคิดการบริหารประเทศไทย รอบนี้ก็คงไม่ต่างไปจากเดิมนัก เพราะสถาบันการเมืองไทย ถูกยึดโยงกับ 2 สิ่ง คือ 1.วัฒนธรรมการเมือง และ 2.รูปแบบการปกครอง ที่สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ 'เศรษฐกิจไทย' ที่ยึดโยงกับภาคธุรกิจและกำลังซื้อคนไทย ไปต่อยาก ภายใต้ เศรษฐกิจโลกกำลังปั่นป่วนอย่างหนัก
จึงอยากเสนอปลุกการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลใหม่ ต้องให้เอกชนเป็นหลักในการนำทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ระดมความเห็นของภาคเอกชน และ ทำงานร่วมกับฝ่ายวิชาการ เพื่อตกผลึกว่า จะใช้ศักยภาพ หรือ จุดแข็งของประเทศไทยส่วนไหน เป็นตัวนำทาง เพราะต้องย้ำว่า การส่งออก ฟันเฟืองหลัก จีดีพี กำลังเข้าสู่ภาวะ 'ลำบาก' มากขึ้น จากคำสั่งซื้อประเทศคู่ค้าหดตัว ขณะประเทศคู่แข่ง รุกหนักมากขึ้น
"ประเทศไทย มีศักยภาพอยู่เยอะ ถึงเวลาที่รัฐบาลใหม่ต้องกล้าตัดสินใจ เปิดโต๊ะนำภาคเอกชนมาระดมความคิด ถกร่วมกับ ข้อมูลของฝ่ายวิชาการ ว่าเราจะอยู่อย่างไร ภายใต้พลวัตรของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างมาก "
ย้ำแนวคิด ดึง"กำลังซื้อต่างชาติ"เสริมท่องเที่ยว
ทั้งนี้ นายมีศักดิ์ ยังย้ำแนวคิด การกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยผูกโยงกับจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว ต่อเนื่องมายังภาคอสังหาฯ เพื่อสร้างกำลังซื้อใหม่ๆ จากความต้องการของคนต่างชาติ เพื่อให้นำเงินมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เป็นอีกแรงเหวี่ยงของฟากการบริโภคภายในประเทศ
พร้อมเสริมว่า สิ่งที่ภาคอสังหาฯอยากเสนอ รัฐบาลใหม่ เช่น การปัดฝุ่นกฎหมายให้ต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรได้นั้น ไม่ได้ต้องการกระตุ้น สร้างผลประโยชน์ให้กับคนในวงการอสังหาฯ แต่อยากให้มอง 'อสังหาฯ'จะเป็นแต้มต่อใหม่ทางเศรษฐกิจ เพราะเราไม่เก่งเรื่องไฟแนนซ์ ไอซีที หรือ ดิจิทัล ขณะปัญหาโครงสร้างทางประชากร ก็มีปัญหา เทียบประเทศมหาอำนาจ อินเดีย เกาหลี ประชากรเยอะ เศรษฐกิจโต แต่ไทยสวนทาง สิ่งที่ทำได้ คือ ต่อยอดเศรษฐกิจใหม่จากการท่องเที่ยวที่มี
"ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนเศรษฐกิจ ขอให้ดูว่า วันนี้คนในโลก อยากซื้ออะไรจากเรา การส่งออกคงไม่ใช่แล้ว แต่จากข่าว ต่างชาติอยากซื้อที่อยู่อาศัยไทย ต้องดึงกำลังซื้อนั้นให้มาอยู่อาศัยในไทยระยะยาว นี่จะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้ามาในระบบ จากศักยภาพที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดของไทย ณ ขณะนี้ "
แนวคิดดังกล่าว สอดคล้อง กับ ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมของ นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย ที่ก่อนหน้า เสนอให้รัฐบาลแปลงสิทธิประโยชน์แง่ 'วีซ่า' ให้กับคนต่างชาติ เป็นแม่เหล็กในการดึงดูด เช่น ซื้อคอนโดฯ ราคา 3 ล้านบาท ได้วีซ่าอยู่ไทย 3 ปี / 5 ล้านบาท อยู่ไทยได้นาน 5 ปี หรือ 10 ล้านบาท แลกวีซ่า 10 ปี เป็นต้น
"รับสร้างบ้าน" ขอลดหย่อนภาษีให้ผู้บริโภค
อีกภาคธุรกิจที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมอสังหาฯ นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ โดยคาดหวัง หลังการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะได้รัฐบาล และ นายกรัฐมตรี ที่เป็นที่ยอมรับ ของภาคเอกชน และยึด 'ประชาชน' เป็นศูนย์กลางสูงสุด
ขณะสิ่งที่ร้องขอเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจนั้น นายโอฬาร ระบุว่า เป็นเวลายาวนาน ที่ตลาดรับสร้างบ้าน ถูกทิ้งขว้างจากรัฐบาลทุกชุด ทั้งๆที่เป็นภาคธุรกิจ ที่มีวงล้อกว้าง ตั้งแต่ ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ ,ร้านขายวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย และ ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ทุกอย่างที่ขับเคลื่อน จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้
โดยธุรกิจรับสร้างบ้าน อยากเสนอให้ รัฐบาลใหม่กระตุ้นและสนับสนุนผู้ซื้อ ผ่านมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนองบ้าน ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจจัดสรร เพราะมาตรการดังกล่าว ไม่ครอบคลุมตลาดรับสร้างบ้าน ทั้งๆที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไม่ต่างกัน
ประการที่ 2 อยากฝากให้รัฐบาล สนับสนุน ผู้ปลูกสร้างบ้าน ผ่านการนำสัญญาปลูกสร้างบ้าน มาลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในรอบภาษีปีถัดไปได้ ตามเงื่อนไขสัดส่วนและราคาปลูกสร้างบ้าน ที่รัฐเห็นสมควร เช่น 1 ล้านบาท ลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท เนื่องจากเรียกร้องมาหลายปี แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาลต่างๆ
"ทุกวันนี้ ผู้บริโภคเวลากู้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน แม้ได้รับการลดภาษีดอกเบี้ยบางส่วนแล้ว แต่มองว่าไม่เพียงพอในการกระตุ้น เราอยากเสนอโมเดล ให้รัฐสนับสนุนมาตรการภาษีเพิ่ม เช่น ให้ผู้บริโภคสามารถนำหนังสือสัญญาสั่งสร้างบ้าน มาลดหย่อยภาษีได้ เพื่อกระตุ้นความต้องการ หรือ ขยายขนาดบ้านและราคาบ้านที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมสูงขึ้น "
ว่ากันว่า ประเทศไทยมีวัฏจักรเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเศรษฐกิจอื่นของโลก เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงมาก เป็นคำถามเหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วงโควิด เมื่อการท่องเที่ยวหดหาย เรายังมีแรงหนุนไหนอีกบ้าง งานนี้ภาคอสังหาฯฝากการบ้านให้รัฐบาลใหม่คิดต่อ...