ภูเก็ตจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวระดับโลก จุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่รัฐบาล “ประยุทธ์” ต่อเนื่องมาถึง “เศรษฐา1” ให้ความสำคัญ ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารระดับโลก ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แม่เหล็กดึงดูดการเดินทางเข้าและมาใช้ชีวิต
ที่เป็นไฮไลท์ นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีมาตรการฟรีวีซ่าชั่วคราว สำหรับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักผ่านเข้าไทยได้ง่ายขึ้น เริ่มทันทีวันที่25กันยายนนี้ หลายฝ่ายประเมินว่าจะสร้างผลดีช่วยให้จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เติบโตขึ้น ตามเป้าที่ตั้งไว้ และหากต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทยได้นานขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับอานิสงส์ ตามมา
นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงศ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีท่องเที่ยวภูเก็ตฟื้นตัว ส่งผลให้มีบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ จากส่วนกลาง เข้าพื้นที่มากขึ้น มีมูลค่าลงทุนเกิน 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะแสนสิริที่มาอยู่ในพื้นที่นานแล้วและซื้อที่ดินรอพัฒนาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ที่เข้ามาใหม่ มีออริจิ้น ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์บริษัท แคปส์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของตนเอง รวมถึง ศุภาลัย ส่วนกลุ่มไมเนอร์อยู่ที่ภูเก็ตจนเป็นสัญลักษณ์ เน้นเจาะกลุ่มพูลวิลล่า ราคา 250 ล้านบาทต่อหน่วยขึ้นไป ที่ต่างชาติ และเศรษฐีไทยนิยม ราคาที่ดินกลับมาปรับตัวสูงขึ้น โดยหาดป่าตองราคา เริ่มต้น 150 -250 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลาดอสังหาฯ ในภูเก็ต มีความหลากหลาย และยังถือว่าตลาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลแต่ขณะนี้กลับมาฟื้นตัวเร็วทำให้มีคนสนใจมากขึ้น และเชื่อว่าหากมีการกระตุ้นนโยบายฟรีวีซ่า เชื่อว่าจะมีผลดีมากขึ้น ส่วนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทจะกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ได้สูง
นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเปิดตัวคอนโดมิเนียม จังหวัดภูเก็ต ใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ในเดือนพฤศจิกายนอีกหนึ่งโครงการ ที่ผ่านมาแสนสิริได้เข้ามาพัฒนาโครงการ ในภูเก็ตมากกว่า 10 โครงการและโอกาสที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับภูเก็ตและมาตรการฟรีวีซ่า มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะภูเก็ตมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสอง รองจากกรุงเทพฯ
นายกรี เดชชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจที่อยู่อาศัย บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ระบุการฟื้นตัวของภูเก็ตเกิดจากจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ในตัวเอง เมื่อผ่านพ้นโควิดทำให้นักลงทุนซื้อที่ดินพัฒนาโครงการ และบางรายมีรูปแบบจอยเวนเจอร์กับคนพื้นที่โดยมองว่าภูเก็ตวันนี้ จะเป็นศูนย์รวมการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ขณะความเคลื่อนไหวซื้อที่ดินพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการ คาดว่ามีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาท
อย่าง แสนสิริ ออริจิ้นฯลฯเข้ามาพัฒนาคอนโดมิเนียม ใกล้กับโครงการของเซ็นทรัลพัฒนา ทำเลศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต จากการตรวจสอบพบว่า มีโครงการเปิดขาย กว่า 3,000หน่วย ทั้ง ออริจิ้น 300 หน่วย แสนสิริ และฟิล ภูเก็ตของ เซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อที่ดินต่อจากตระกูลหงส์หยก
นายกรีระบุว่า หากย้อนไปก่อนหน้านี้ แสนสิริและแอลพีเอ็นศุภาลัย เป็นค่ายแรกๆ ที่เข้ามาปักหมุดในภูเก็ตมากที่สุด ขณะบริษัทได้ลงทุนโครงการคอนโดมิเนียม ฟิล ภูเก็ต ในราคาเจาะกลุ่มคนไทย และมีต่างชาติ 15% โอนกรรมสิทธิ์ ทำเลใกล้ศูนย์การค้าภูเก็ต ทำเลถนนเหมืองนาคา ซึ่งใกล้ทางแยกเข้าตัวเมืองภูเก็ต ทำเลเดียวกันกับแสนสิริและออริจิ้น นอกจากนี้ บริษัทยัง เจรจาซื้อที่ดินเพิ่มต่อเนื่อง
จาก “พร็อพเพอร์ตี้ดีเอ็นเอ” ประเมินว่าภูเก็ตกลายเป็นจังหวัดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง และผู้ประกอบการท้องถิ่นเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างแสนสิริ ศุภาลัย ผู้ประกอบการรายใหญ่อีกรายอย่างค่าย CPN เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมโครงการแรกในภูเก็ต “ไรมอนแลนด์” พัฒนาโครงการ Rosewood Residences Kamala โครงการนี้เป็นโครงการ Branded ร่วมกับ “Rosewood” จะเป็นโครงการ Branded luxury Residence ประกอบด้วยโรงแรม และโครงการที่อยู่อาศัยบนที่ดิน 50 ไร่ที่ “หาดกมลา”
“ลากูน่า พร็อพเพอร์ตี้” ผู้ประกอบการรายใหญ่ของภูเก็ตที่มีที่ดินขนาดใหญ่ และพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ หลายระดับราคา คอนโดมิเนียมที่ระดับราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปถึงมากกว่า 70 ล้านบาทต่อยูนิต และยังมีการพัฒนาโรงแรม รีสอร์ตอีกหลายแห่ง หลายระดับราคาเช่นกัน รวมถึงโครงการมมอนท์เอชัว ภูเก็ต
นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดตัว “เย่ว เรสเทอรองท์ แอนด์ บาร์” (Yue Restaurant and Bar) ห้องอาหารจีนสไตล์โมเดิร์นชิค ที่โรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ มุ่งเป็นห้องอาหารจีนที่สร้างประสบการณ์ที่พิเศษที่สุด ที่จะเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารระดับโลก เป็นต้น
ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 14,670 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 8,878 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792 ล้านบาท ที่ผ่านมา ไม่มีเอกชนรายใดสนใจร่วมลงทุน คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลใหม่ภายในปีนี้ ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2567 ระยะเวลา 4 ปี เปิดให้บริการปี 2571
สำหรับแนวทางเลือกของโครงการฯ ที่เหมาะสม มีทั้งหมด2 แนวทางเลือก ประกอบด้วย 1.รอผลการศึกษาของโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เพื่อเพิ่มแนวเส้นทางให้มีระยะทางยาวขึ้น และครอบคลุมทั้งโครงการ จูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากขึ้น
ส่วนแนวทางที่ 2 กทพ. จะเริ่มงานก่อสร้างสายกะทู้-ป่าตองไปก่อน เนื่องจากการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นงานอุโมงค์ทางลอดที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างจำนวนมาก หลังจากนั้นค่อยให้เอกชนมาชำระคืนในภายหลัง โดย กทพ.มีแผนต้องการให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้รับสัมปทานทั้งโครงการฯ เพื่อให้อัตราค่าผ่านทางของโครงการฯเป็นระบบเดียวกันและสามารถลดต้นทุนได้บางส่วน
โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 45,300 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 22,750 ล้านบาท ค่าก่อสร้างโครงการ (รวมค่าควบคุมงาน) 22,550 ล้านบาท คาดว่าจะขออนุมัติโครงการในปี ที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 2567-2569 โดยจะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2568-2570 และเปิดให้บริการในปี 2571
กรมฯมีแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางระยะ 20 ปี (พ.ศ.2566-2585) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map: MR-MAP) เบื้องต้นทล. ได้สรุปแผนแม่บทบูรณาการ MR-MAP ในระยะยาว ระยะทาง 6,877 กม.
โดยพิจารณากำหนดรูปแบบการพัฒนามอเตอร์เวย์และระบบรางในเส้นทางแนวตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งในแนวเส้นทางเหนือ-ใต้ คาดว่าผลการศึกษาฯจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบและผลักดันให้เกิดการก่อสร้างต่อไป
ทั้งนี้ MR-MAP มีเส้นทางที่เชื่อมต่อจังหวัดภูเก็ต คือ MR9: สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ซึ่งมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันผ่าน 2 เมืองหลักของภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานีและภูเก็ต ที่ช่วยรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยมีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสิ้นสุดที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 236 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งแนวเส้นทางพาดผ่านทั้งหมด 4 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่,พังงา,ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ความคืบหน้าการพัฒนาสนามบินภูเก็ต จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว เบื้องต้นทอท.อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี