กระแสการยื่นใบลาออกจากราชการของนายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดินก่อนกำหนดเกษียณราชการ 1ปี ในช่วง ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เข้ามากุมบังเหียน ส่อเป็นชนวนให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงปม “เขากระโดง” ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีคนในตระกูลชิดชอบ อยู่ในข่ายออกหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์คลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 พิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ประเภทโฉนดที่ดิน นส.3 ก ฯลฯ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ อาศัยคำสั่ง ศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2566 มอบอธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินเขากระโดง ซึ่งพบหลักฐานเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งบริเวณทางแยกเขากระโดง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 4 ถึงกิโลเมตรที่ 8 ถนนบุรีรัมย์-ประโคนชัย
ถนนสายสำคัญที่กรมทางหลวงทำหนังสือขอใช้ที่ดินกับการรถไฟฯเพื่อเวนคืนก่อสร้างถนนเส้นทางดังกล่าว และแนวเขตเวนคืนเพื่อจะก่อสร้างทางรถไฟโดยตรวจสอบพบหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จำนวน 772 ฉบับ แยกเป็นโฉนด 396 ฉบับ หนังสือแสดงการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 จำนวน 376 ฉบับ
พบโฉนดเกิน 772 ฉบับ
แหล่งข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการตรวจสอบ พบว่าอาจมีมากถึง เกือบ 1,000 แปลง จากที่ตรวจสอบพบ 772 ฉบับ และปัจจุบันทยอยออกหนังหนังสือแจ้งเจ้าของ ผู้ครอบครอง ตามเลขที่ที่ปรากฎ ตามขั้นตอนประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเปิดโอกาส นำเอกสารหลักฐานมาแสดงสิทธิ์คัดค้าน ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ วันที่ออกจดหมายแต่ประเมินว่าอาจจะมีการยื่นคัดค้านทั้งหมดเพราะต่างอ้างว่าซื้อขายได้มาถูกกฎหมาย และมีเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยชอบ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ
โดยให้เจ้าของที่ดินคือการรถไฟฯมาชี้แนวเขตรวมถึงผู้ครอบครองและ คนที่อยู่ในแปลงข้างเคียง เว้นแต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าของที่ดินตัวจริงได้ ทั้งนี้หากพิสูจน์ได้ว่าออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินจะใช้อำนาจสั่งต้องเพิกถอนได้ แต่ไม่ง่ายเสมอไปเพราะผู้ครอบครองจะใช้กระบวน การทางศาลฟ้องร้องสู้คดีจนถึงที่สุด ระหว่างเจ้าของที่ดินกับกรมที่ดิน อีกทอด
แม้ที่ผ่านมา คดีมหากาพย์ เขากระโดงจะยุติลง กรณีการรถไฟฯเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมที่ดิน กรณีออกเอกสารสิทธิ์ ผิดพลาดคลาดเคลื่อน จะยุติลงในชั้นศาลปกครองกลาง โดยกรมที่ดินไม่คิดต่อสู้คดีต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด ก็ตาม
“ชิดชอบ”ถือครอง 20 แปลง
เช่นเดียวกับคนในตระกูลชิดชอบที่อยู่ในข่าย ครอบครองที่ดินเขากระโดง จากคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ออกไปจำนวน 2 ฉบับปรากฎว่า มี หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบ ซึ่งถือครองกรรมสิทธิ์โดยนักการเมือง ญาตินักการเมือง บริษัทที่ถือหุ้นหรือบริหารโดยนักการเมืองหรือญาตินักการเมืองตระกูลชิดชอบจำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7
ตารางวา ซึ่งงพบว่าเป็นแปลงที่ดินที่ถูกพบเพิ่มขึ้น จากเดิมที่พรรคประชาชาติในครั้งก่อนที่นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อสภาผู้แทนราษฎร พบว่า มีที่ดินเพียง 12 แปลง เนื้อที่รวม 179 ไร่ 1 งาน 43.3 ตารางวา
มอบทนายประจำตระกูลฟ้อง
ด้าน นายชนินทร์ แก่นหิรัญ ทนายความของตระกูลชิดชอบ ชี้แจงผ่านสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า กรณีอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 นั้น เป็นเพียงการให้คณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในบริเวณพื้นที่เขากระโดงโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประการใด รวมทั้งให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จะมีการออกหนังสือแจ้งกรณีดังกล่าวไปยังบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินในบริเวณพื้นที่เขากระโดงทราบ และให้สิทธิบุคคลดังกล่าวที่จะคัดค้านการเพิกถอน โดยให้ระบุเหตุผลที่คัดค้านพร้อมเอกสารหลักฐาน ยื่นต่อประธานสอบสวน ณ สำนักงานเขตที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
จากกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ มิใช่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่ที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในบริเวณพื้นที่เขากระโดงด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีบุคคลที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวเพียงบางส่วนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการร่างกฎหมายขณะที่ 7) เรื่องเสร็จ ที่ 106/2541 นั้น ถูกต้องหรือไม่ กล่าวคือ การสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินการรถไฟที่ใช้สร้างทางรถไฟในปี 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดวางและทางหลวง พ.ศ. 2464 หรือไม่ และการที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ ถือได้ว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 หรือไม่
การรถไฟฯได้กล่าวอ้างว่า มีหลักฐานเป็นแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร 375-650 และใบสำคัญแสดงรายละเอียดแห่งค่าทำขวัญสำหรับทรัพย์ทุกประเภท ที่กรมรถไฟแผ่นดินได้จัดซื้อไว้เพื่อประโยชน์รถไฟ ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2467 อันเป็นที่มาของความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลับไม่ปรากฎว่ามีต้นฉบับหรือสำเนา พ.ร.ฎ.กำหนดเขต
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากมาตราส่วนแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร 375-650 ที่กำหนดไว้ที่มาตราส่วน 1:4000 จะพบพิรุธสำคัญ ซึ่งขัดต่อหลักการคำนวณแผนที่ตามหลักภูมิศาสตร์สารสนเทศศาสตร์
นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้บุคคลในตระกูลชิดชอบและบริษัทในเครือฯยังไม่ได้รับหนังสือแจ้ง เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงเอกสารสิทธิในที่ดินทั้ง 20 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 288 ไร่ แต่อย่างใด แต่หากได้รับหนังสือฯแจ้งแล้ว ตนเองในฐานะทนายความของตระกูลชิดชอบ จะทำหนังสือคัดค้านและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสอบสวนฯเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ส่งหนังสือและหลักฐานคัดค้านในประเด็นว่า
ที่ดินเขากระโดงไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯไปแล้วก่อนหน้านี้ หากในท้ายที่สุดแล้ว อธิบดีกรมที่ดิน พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯแล้ว และออกคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินของบุคคลในตระกูลชิดชอบหรือบริษัทในเครือแล้ว ทางตระกูลชิดชอบจะดำเนินการยื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดินดังกล่าว เนื่องจากเป็นกรณีการออกคำสั่งโดยไม่ชอบ