“วราวุธ” ลุย Smart Housing 1.3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

15 ต.ค. 2566 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2566 | 09:32 น.

 “วราวุธ” สั่งลุยเมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโต-ฟื้นฟู ตามแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัย20 ปี Smart Housing คนไทยมีที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 เป้าหมาย 1.3 แสน ครัวเรือนทั่วประเทศ

 

วันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566 ประเทศไทย (World Habitat Day 2023-Thailand) ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น: เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการฟื้นฟู” (Resilient Urban Economies : Cities as drivers of growth and recovery)  ที่มี นายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองท่ามกลางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Megatrend) และความท้าทายของประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน

โดยกล่าวว่าองค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT)  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น “วันที่อยู่อาศัยโลก” หรือ “World Habitat Day” เริ่มตั้งแต่ปี 2528 เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

สำหรับปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) กำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2566 ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อหลัก “เศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น: เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการฟื้นฟู ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Smart Housing)”

 

 

ภายใต้เป้าหมาย 1,300,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ดังนั้นภายในปี 2579 กระทรวงพม. จะทำให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งมีนโยบาย อาทิ การช่วยออกค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าห้องคนละครึ่ง

หน้าที่ของกระทรวง พม.คือการดึงศักยภาพของพี่น้องประชาชนเข้ามาช่วยกันทำงาน และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นค่าเช่าที่พักอาศัย ทั้งนี้ การที่จะมีที่อยู่อาศัยนั้น ทุกคนต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างเดียว เมื่อพี่น้องประชาชนออกแรง เราจะช่วยออกอีกแรง เพราะหนึ่งในปัจจัย 4 คือที่อยู่อาศัย

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ ระบุว่ากระทรวง พม.โดยการเคหะแห่งชาติ หรือ กคช. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีภารกิจสำคัญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มครัวเรือนเปราะบางให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมและสามารถรับภาระได้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว จำนวน 751,061 หน่วย ควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญ ได้แก่

1)  โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง มุ่งสู่ Smart Community 

2) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า

3) โครงการเคหะสุขประชา บ้านเช่าพร้อมอาชีพ ในเวลาเดียวกัน

4) โครงการบ้านเบอร์ 5 ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

5) โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาชุมชน 4 มิติ และ

6) โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น รวมถึงโครงการฝึกฝนและเพิ่มพูนทักษะอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้ชุมชน และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”

กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีภารกิจสำคัญด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ตั้งแต่ปี 2546 ได้จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่ในที่ดินบุกรุกหรือที่ดินเช่าที่ไม่มีความมั่นคง โดยทำงานร่วมกับชาวบ้าน ตั้งแต่รวมกลุ่ม สร้างความเข้าใจ จนกระทั่งสร้างบ้านเสร็จแล้ว จากนั้น จึงมีแผนพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งอาชีพ แหล่งอาหาร

สิ่งแวดล้อม สันทนา สวัสดิการชุมชนโดยใช้หลักการสำคัญ “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาพอช.และภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน” 

วราวุธ ศิลปอาชา