ค่าแรงขึ้น ทุกอย่างขึ้นตาม อสังหาฯอ่วมต้นทุน              

15 ต.ค. 2566 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2566 | 12:31 น.

ค่าแรงขึ้น ทุกอย่างขึ้นตาม อสังหาฯอ่วมต้นทุน รัฐบาล“เศรษฐา” จ่อปรับค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 600 บาท ดันขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 5%

 

 

 

การที่มีกระแส ข่าวรัฐบาล“เศรษฐา1” จะปรับค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 600 บาทต่อวันเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องทำ เพราะเป็น หนึ่งในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นตํ่าในประเทศไทยอาจจะมีอะไรหลายอย่างที่ตามมาอีก โดยเฉพาะในด้านที่เป็นลบต่อคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่รับค่าแรงขั้นตํ่า และกลุ่มเจ้าของกิจการต่างๆ

ค่าแรงขั้นตํ่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดค่าครองชีพของทุกประเทศ ทั้งในเรื่องของรายได้ของคนทำงาน และในเรื่องของค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยในส่วนของฝั่งรายได้ของคนทำงานอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรในทางลบมากนัก เพราะรายได้มากขึ้นก็ใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในทางกลับกันในฝั่งของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการต่างๆ เมื่อค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ต้องหาทางชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นตํ่าอาจจะมีผลให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้นแบบชัดเจน และได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงต่อคนในวงกว้างมากกว่า ค่าแรงขั้นตํ่าที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาก็ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าอุปโภค บริโภคที่ต้องใช้แรงงานคนในการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าอาหารรูปแบบต่างๆ ปรับเพิ่มราคาขึ้นแน่นอน

สำหรับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ “พร็อพเพอร์ตี้ดีเอ็นเอ” วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มของค่าแรงงานขั้นตํ่าเป็น 600 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 328-354 ต่อวันแล้วแต่จังหวัด เป็นการเพิ่มขึ้นที่ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งแน่นอนว่าในมุมของแรงงานก็เป็นผลดีแน่นอน แต่ในมุมของเจ้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่เป็นผลดี ซึ่งถ้าการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นตํ่าเริ่มชัดเจนมากขึ้นอาจจะได้เห็นการปิดกิจการของโรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมากแน่นอน

โรงงานที่รับผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานคนจำนวนมากอาจจะเลือกที่จะไปตั้งโรงงานที่ประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานตํ่ากว่า หรือโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าจากต่างประเทศโดยมีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้วรับออเดอร์คำสั่งการผลิตจากประเทศต่างๆ ก็อาจจะมีคำสั่งการผลิตสินค้าลดลงหรือหายไปเลย

 เมื่อค่าแรงขั้นตํ่าปรับเพิ่ม เจ้าของโรงงานก็จำเป็นต้องมีการปรับค่ารับจ้างการผลิตสอนค้าต่างๆ มากขึ้นจนอาจจะไม่มีใครจ้างผลิตสินค้าอีกต่อไป โดยเหตุการณืในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงมีการปรับค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อหลายปีก่อน จริงอยู่ที่เงื่อนไขในการปรับค่าแรงขั้นตํ่าครั้งนี้ อยู่ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องขึ้นไปถึง 5% ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ อาจจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่คงไม่ใช่ทุกธุรกิจ และคงไม่ใช่ทุกรายที่ขยายตัวหรือเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ

ผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อค่าแรงงานขั้นตํ่ามีการปรับเพิ่มขึ้นมีผลกระทบแน่นอน เพราะราคาวัสดุก่อสร้างทุกอย่างต้องปรับเพิ่มทั้งหมด เพราะมีการใช้แรงงานในการผลิตแน่นอนอยู่แล้ว รวมไปถึงการก่อสร้างโครงการต่างๆ ก็เช่นกันที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นแบบทันทีเป็น 600 บาทต่อวันเท่ากับว่าเป็นการปรับเพิ่มที่สูงมาก เพราะก่อนหน้านี้ค่าแรงขั้นตํ่าปรับเพิ่มประมาณ 4-6% ต่อปี ซึ่งเมื่อค่าแรงขั้นตํ่าปรับเพิ่มแบบนี้

ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นทันที และสุดท้ายแล้วค่าบ้าน คอนโดมิเนียมจะต้องแพงขึ้นแน่นอน ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี2566 ก็ปรับเพิ่มขึ้นไปประมาณ 5-10% ไปแล้ว ทั้งค่าแรงในระดับต่างๆ ก็อาจจะมีการปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นตํ่า ก่อนหน้านี้ก็ปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงตามราคานํ้ามันไปหลายรอบแล้ว นอกจากนี้ค่าเช่าในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมก็ต้องปรับเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าแรงขั้นตํ่าปรับเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยแล้วแต่จำนวนแรงงานที่ใช้ในโครงการ 

 แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน อื่นๆ ก็อาจจะมีเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะค่าแรงขั้นตํ่าที่ปรับเพิ่มนี้รวมไปถึงค่าแรงที่จ่ายให้กับแรงงานต่างชาติด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำนวนหลายล้านคนในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เพราะคนไทยเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากเกือบหมดแล้ว

เหลือเพียงแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมก่อสร้างเท่านั้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ที่อาจจะมีแรงงานต่างชาติในสัดส่วนที่มากขึ้น และสิ่งที่ต้องติดตามต่อในระยะยาว คือ ผลกระทบจากการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นตํ่าแบบก้าวกระโดดจะส่งผลอะไรในระยะยาวหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อปรับเพิ่มไปแล้วจะปรับลดลงมาอีกไม่ได้