การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมของคนต่างชาติ ยังมีความเคลื่อนไหวในทิศทางที่ดี มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี2566 ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแม้ว่ายังเติบโตไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดอย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าปีหน้าการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ 3,365 หน่วย มูลค่า 17,048 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.6% และ 21.1% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีการขยายในเชิงจำนวนหน่วย เพิ่มขึ้น 0.4% แต่ในเชิงมูลค่าลดลง -2.0%
ขณะภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนหน่วยและมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ 10,703 หน่วย มูลค่า 52,259 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.6% และ 23.3% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีการขยายในเชิงจำนวนหน่วยและมูลค่า เพิ่มขึ้น 37.6% และ 31.6% ตามลำดับใน 9 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ 5 ลำดับแรก
นอกจากนี้พบว่าผู้รับโอนฯสัญชาติพม่า(เมียนมา)รับโอนฯห้องชุดมีจำนวนหน่วยเป็นอันดับ 7 จำนวน 347 หน่วย แต่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 มูลค่า 2,250 ล้านบาท โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 51.4 ตร.ม/หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 6.5 ล้านบาท/หน่วย
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติมากสุดคือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และระยอง
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(REIC) ได้กล่าวสรุปว่า คนต่างชาติยังให้ความสนใจต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ห้องชุดยังคงเป็นที่ต้องการของคนต่างชาติ ดังจะเห็นได้ว่า จำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว และมีสัดส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มเป็น 11.6% และ 21.1% ของทั้งหมด
ขณะที่ในช่วงก่อนหน้า มีสัดส่วนของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ไม่เกิน 10% และมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ไม่เกิน 15% ของทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น หากการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเต็มที่ เชื่อว่าตลาดอาคารชุดจะได้รับความสนใจของคนต่างชาติมากยิ่งขึ้น