การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 แผนผัง ประกอบด้วย 1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง 3.แผนผังแสดงผังน้ำ 4.แผนผังแสดงที่โล่ง 5.แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค 6.แผนผังแสดงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยจะจัดการประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นฯเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม ครั้งใหญ่ ในวันเสาร์ที่ 6 มกราคม2567 ประเมินว่า จะมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจร่วมรับฟัง
สำหรับการ รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้ง 6 กลุ่มเขต เมื่อวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนในเขต คลองเตย และเขตวัฒนาส่วนใหญ่ไม่ต้องการปรับเพิ่มพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการมีตึกสูงเกิดขึ้นบริเวณบ้านสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน
รวมถึงไม่ต้องการ ปรับ เพิ่ม FAR โบนัส ซึ่งประชาชนให้เหตุผลว่า การปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เพิ่มขึ้นจะสร้างความเดือดร้อนให้กับพื้นที่ โดยวันที่6 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจะเปิดรับฟังข้อเสนอรวมอีกครั้งเพื่อนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป
สำหรับเขตคลองเตยและเขตเขตวัฒนา เป็นย่านใจกลางเมืองมีโครงข่ายรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นราคาที่ดิน อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านปลายๆถึง2 ล้านบาทต่อตารางวา มีหลายพื้นที่ยังเป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งมีเสียงประชาชนรายหนึ่ง สะท้อน ผ่าน”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มีกลุ่มนายทุนพยายามให้ กรุงเทพมหานครปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่สีน้ำตาล (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นพื้นที่สีแดง เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่และตึกสูง แต่ ส่วนใหญ่ได้รวมตัวกันคัดค้าน
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตสมาชิก พรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij” หลังร่วมรับประชุมความคิดเห็นประชาชน บริเวณสำนักงานคลองเตยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ชาวกรุงเทพฯ ทราบเรื่องนี้น้อยมาก และ ถึงทราบอาจจะไม่เข้าใจว่ามีความสำคัญต่ออนาคตความเป็นอยู่
ยกตัวอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนโซนการใช้พื้นที่รอบข้างบ้านคุณจาก โซนอยู่อาศัยเป็นโซนพาณิชย์ได้ ซึ่งจากที่ได้รับฟัง และติดตามที่คณะผู้จัดทำได้บรรยายมา โดยมีความเห็นว่า แทบทุกการปรับเปลี่ยนที่สำคัญที่ ทางกทม. เสนอ ล้วนมีเจตนาปรับ เพื่อช่วยสนับสนุนกิจการของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น
เช่น 1. กทม. จะเพิ่มขนาดถนนรอง โดยอ้างว่าเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบรถไฟฟ้า และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะจากพิกัดบริเวณที่กำหนดให้ถนนแทรกขยาย ผ่าชุมชนเข้าไปบางพื้นที่นั้น ทำให้ผมเชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อกำจัดอุปสรรคในการสร้างตึกสูงเพิ่มเติมเข้าไปในย่านชุมชนที่มีถนนเล็กซอยแคบ ( ปัจจุบันหลายโครงการติดเงื่อนไขระยะความกว้างของซอย )
กทม. ได้ขีดเส้นวางแนวการตัดขยายถนนไว้ถึง 148 สาย ความยาวกว่า 600 กิโลเมตร หาก ผ่าน จะนำไปสู่การรุกคืบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เข้าไปในหลายชุมชน หลายซอย ทั่วเมือง (โดยที่การขยายให้ถนนกว้างกว่า 10เมตรซึ่งมีผลมากต่อการสร้างตึกสูง จะไม่ต้องมาจากการเวนคืนด้วยซ้ำ แต่จะเป็นการให้เอกชนร่นพื้นที่ตนเอง พูดง่ายๆคือประโยชน์สาธารณะแทบไม่มี)
2. กทม. เสนอมาตรการ “FAR. Bonus” คือ การเพิ่มสิทธิก่อสร้างอาคารให้สามารถเพิ่ม “อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน” (FAR.-Floor Area Ratio) ได้ถึง 20% จากเดิม แลกกับการอุทิศบางสิ่งที่ กทม. กำหนดว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป เช่น สวนหย่อมบนหลังคาตึก, สวนแนวตั้ง , การจัดให้มีพื้นที่ว่าง หรือเจียดพื้นที่เสมือนสาธารณะบางส่วนของโครงการ เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ฯลฯ
ที่ล้วนเป็นมาตรการที่ประโยชน์สาธารณะน้อย แต่ประโยชน์ของผู้ประกอบการมีมูลค่ามหาศาล ที่สุดมาตรการนี้จะทำให้เกิดโครงการลูบหน้าปะจมูกเพื่อเป็นข้ออ้างสิทธิสร้างตึกให้ใหญ่ขึ้น จะเปิดช่องการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ และการทุจริตคอร์รัปชั่นมากมาย ที่จะควบคู่ตามมาจากวิถีปฏิบัติที่เห็นกันต่อเนื่องมาในเรื่องการขาดการกำกับ ตรวจสอบ การบังคับใช้กม.ไปจนถึงการลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
เรื่องทั้งหมดนี้คนกรุงเทพฯ ต้องสู้ เอง อย่าหวังผู้มีอำนาจมาช่วย เพราะไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าฯหรือแม้แต่ท่านนายกฯ ทั้งสองท่านจะเก่งจะดีอย่างไรก็ตาม ยังกังวลว่า ที่สุดแล้วท่านจะเข้าข้างบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะท่านทั้งสอง ล้วนมาจากอาชีพสร้างคอนโด และ ท่านผู้ว่าฯ ยังได้แต่งตั้งนักพัฒนาอสังหาฯ มาเป็นทั้งรองผู้ว่าฯ และที่ปรึกษา ที่ยังสามารถสลับร่างไปมาในการบริหารจัดการ ทำธุรกิจอสังหาฯ ควบคู่หน้าที่ทางราชการไปได้อย่างน่าฉงน จึงคิดว่าชาวกรุงเทพฯ วางใจไม่ได้ ต้องสู้ร่วมกัน