ภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทั้ง50เขตต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่4) เมื่อวันที่ 6 มกราคม2567ที่ผ่านมา เสียงสะท้อนส่วนใหญ่มองว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุน และ การให้เวลาแสดงความคิดเห็นของประชาชนน้อยเกินไป
ล่าสุด วันที่9 มกราคม 2567 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมี รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
รองผู้ว่าฯ วิศณุ เปิดเผยว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโดยปกติจะมีการปรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน/การปรับผังเมืองใหม่ทุก 5 ปี ในการนี้ กรุงเทพมหานครโดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองได้ดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในปี พ.ศ. 2560 – 2562 เพื่อวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาในปี 2562 ได้มีพระราชบัญญัติการผังเมืองใหม่
กำหนดให้ผังเมืองรวมมีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 4 แผนผังเป็น 6 แผนผัง ประกอบด้วย แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำ จึงต้องมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้มีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับการวางและจัดทำผังเมืองรวมตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย 18 ขั้นตอน ดังนี้
1. กรุงเทพมหานครได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม
2. จัดเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
3.วางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร
4. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
5. ประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน
6. ประมวลผลความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวม
7. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
8. กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม
9. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดให้ความเห็นชอบต่อร่างผังเมืองรวม
10. ปิดประกาศ 90 วัน และให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดของผังเมืองรวม
11. รวบรวมคำร้อง และจัดทำความเห็นประกอบคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
12. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
13. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย
14. กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 15. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดแจ้งผลการพิจารณาคำร้องให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ
16. แก้ไขปรับปรุงร่างผังเมืองรวมตามมติคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด
17. ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวม
และ 18. ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษา
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากเมืองมีการพัฒนา ฟื้นตัว และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับนโยบายหลักที่อยากทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เมืองที่ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ฯลฯ การปรับผังเมืองจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำสิ่งที่เราอยากให้มีบรรจุในผังเมืองใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนกลุ่มใด หากมีการได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับผังสีจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการขั้นตอนที่ 5 คือได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนแล้ว 7 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ณ ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง สำนักงานเขตมีนบุรี ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ครั้งที่ 2 กลุ่มกรุงเทพกลาง ณ ห้องบางกอก ชั้น บี 2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ครั้งที่ 3 กลุ่มกรุงธนใต้ ณ ห้องประชุมเอกชัย 1 ชั้น 2 สำนักงานเขตบางบอน
ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ครั้งที่ 4 กลุ่มกรุงเทพเหนือ ณ ห้องประชุมเบญจจินดา โรงเรียนวัดหลักสี่ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ครั้งที่ 5 กลุ่มกรุงธนเหนือ ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานเขตบางพลัด ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ครั้งที่ 6 กลุ่มกรุงเทพใต้ ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานเขตคลองเตย ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 และครั้งที่ 7 กรุงเทพมหานคร (50 เขต) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ในวันที่ 6 มกราคม 2567
พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยขยายระยะเวลาการยื่นหนังสือได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 (เดิมสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567)