thansettakij
รื้อผังเมืองภูเก็ต ดัน “ป่าตอง” ขึ้นตึกสูง

รื้อผังเมืองภูเก็ต ดัน “ป่าตอง” ขึ้นตึกสูง

28 เม.ย. 2567 | 09:22 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2567 | 09:35 น.

บิ๊กทุนเฮ ปรับใหญ่ผังเมืองภูเก็ต ดันป่าตอง พื้นที่สีแดงยกผืน ย่านพาณิชยกรรม พ.5 สร้างตึกสูง 60 เมตร หรือ20ชั้น จากไม่เกิน 23 เมตร หรือไม่เกิน8ชั้น   ดันราคาที่ดินพุ่ง ไร่ละกว่า 200 ล้าน คอนโดฯ ราคาพุ่งตร.ม.ละ 4-5 แสน คาดบังคับใช้ปี 68  ด้านคมนาคมปูพรมโครงสร้างพื้นฐานแสนล้าน

 

 

รัฐบาลให้ความสำคัญ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ต  เชื่อมการเดินทาง ทั้งทางบกและทางอากาศรองรับการขยายตัวของเมืองและนักท่องเที่ยว  ขณะเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ปรับผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ให้สอดคล้องกับความเจริญที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  หลังพบหลายพื้นที่ มีดีเวลลอปเปอร์เข้าปักหมุดขึ้นโครงการที่อยู่อาศัยรองรับชาวไทยและต่างชาติกันอย่างคึกคัก

 

นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ภูเก็ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการพึ่งพานักท่องเที่ยวที่เข้ามา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดความต้องการมองหาที่ดินมากขึ้น ขณะเดียวกันในพื้นที่ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ใช้แทนผังเมือรวมฯ พ.ศ.2554 (ปรับปรุงเพิ่มเติบพ.ศ.2558) คาดว่าจะบังคับใช้ได้ประมาณปี 2568ทั้งนี้มีประชาชน

บางพื้นที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากอาจถูกรอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ที่น่าจับตาคือ  โซน ป่าตอง  อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต หาดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภูเก็ต แลนด์มาร์คสำคัญที่ต่างชาตินิยม  กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่สีแดง พ.5 (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) สร้างอาคารสูงได้  60 เมตร  หรือประมาณ 20 ชั้น (เฉลี่ย 1 ชั้น ความสูง ที่ 3 เมตร)  จากเดิมสร้างได้ไม่เกิน 23 เมตร ไม่เกิน 8 ชั้น

การปรับผังเมืองรวมภูเก็ตส่งผลดีต่อการพัฒนาเนื่องจากที่ดินในป่าตองมีราคาสูง และหาค่อนข้างยาก ซึ่งปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ 150-200ล้านบาทต่อไร่และหากปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วคาดว่าราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับราคาขายต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียมจะปรับสูงขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ตารางเมตรละ 4-5 แสนบาท จากเดิม 1.5 แสนบาทต่อตารางเมตร รวมถึงการแก้ไขเกี่ยวประกาศสิ่งแวดล้อมที่จะล้อไปกับผังเมืองรวมซึ่งลดเรื่องระยะถอนร่นและการจำกัดเรื่องความสูง     

นอกจากนี้ มีบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข4030  (กมลา), ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปีบริเวณถนนสาย ก.สร้างอาคารสูงได้ 60 เมตร ที่สูงที่สุด บริเวณถนนเทพกระษัตรี ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 สร้างอาคารสูงสุดได้ 75เมตร ทั้งนี้หลักการของผังเมืองรวม ต้องการให้เป็นคลัสเตอร์  หรือฮับของเมืองอาทิ ตัวเมืองภูเก็ต ป่าตอง ถลาง เชิงทะเลขณะย่านเมืองเก่ายังคงอนุรักษ์ อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่นักท่องที่ยวให้ความสนใจ

ผังเมืองภูเก็ต ปูพื้นที่สีแดง ป่าตอง ผังเมืองภูเก็ต ปูพื้นที่สีแดง ป่าตอง

อย่างไรก็ตามกรณีที่รัฐบาลให้ความสำคัญลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสนามบินแห่งใหม่ มองว่า ช่วยรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 30 ล้านคนซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่เร่งด่วนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขคือเรื่องนํ้าประปา ปัญหาขยะการก่อสร้างและขยายโครงข่ายถนนลดความแออัดคับคั่ง ในช่วงเร่งด่วนก่อน เป็นต้น

 “กำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดภูเก็ต ยังคงมีต่อเนื่อง ทั้งจากดีมานด์คนไทยและต่างชาติ แต่สต๊อกในตลาดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากกำลังซื้อระดับล่างที่เปราะบางและถูกปฏิเสธสินเชื่อ ส่งผลให้ หันไปสร้างบ้านลักชัวรีมากขึ้น ประกอบกับมีภัยสงครามรัสเซีย -ยูเครน จึงพัฒนารองรับกลุ่มกำลังซื้อกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะชาวรัสเซียเข้ามามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกันต่างชาติกลุ่มนี้ ก็มีเข้ามาลงทุนโครงการขายให้ชาติเดียวกัน"

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)สะท้อนว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภูเก็ต เติบโตอย่างอย่างรวดเร็ว จากอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัว มีผลให้ฟื้นตัวเร็ว ทั้งอุปสงค์และอุปทานของที่อยู่อาศัยทุกประเภท  ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) สำรวจพบว่า  ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มีที่อยู่อาศัยเสนอขาย 12,869 หน่วย มูลค่า 91,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  77.5% และ 146.9% ตามลำดับ จากช่วงก่อนหน้า

 ในจำนวนนี้แยกเป็นบ้านจัดสรร 3,020 หน่วย มูลค่า 15,817 ล้านบาท อาคารชุด 9,849 หน่วย มูลค่า 75,701 ล้านบาท มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาด 5,913 หน่วย เพิ่มขึ้น 1,087.3% มูลค่า 48,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,361.3% คาดการณ์ว่า ในปี2567 จะขยายตัวต่อเนื่อง

  สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ต แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดภูเก็ต เพื่อสนับสนุนเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ  7 โครงการ มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการเดินทางทางบก และทางอากาศ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท

 2. โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา -บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท

3. โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท

4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท

5.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้- ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท

6. โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท

7. การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท