ตรีวนันดาXลา แพรรี จุดพลุ "เฮลธ์ รีสอร์ต" ภูเก็ต แห่งแรก ในเซาธ์อีสเอเชีย

03 พ.ค. 2567 | 02:40 น.

ตรีวนันดาXลา แพรรี จุดพลุ ‘เฮลธ์ รีสอร์ต’ ภูเก็ตแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างคอมมูนิตี้เพื่อสุขภาพระดับโลก บนอาณาจักร  600 ไร่ หลังประสบความสำเร็จ จาก “ตรีสราโรงแรมระดับลักชัวรี ภายใต้ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป

 

 อาณาจักร  600 ไร่ปกคลุมไปด้วยผืนป่า และพรุของ “ตระกูลปัทมะเสวี”  ทำเลศัยภาพใจกลางภูเก็ต ถูกพลิกโฉม เป็น “ตรีวนันดา”  โครงการลักชัวรีเวลเนส คอมมูนิตี้ ครบวงจรแห่งภูเก็ต หลังประสบความสำเร็จจาก “ตรีสรา” โรงแรมระดับลักชัวรี ภายใต้ “มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป”หมุดหมาย เป็นผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยวในเอเชีย  หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “เมดิคอลฮับภูเก็ต” จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโลก ที่คนไทยและต่างชาติให้ความนิยม

เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย  ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ โดยมุ่งเน้นการสร้างสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ธรรมชาติบำบัด ท่ามกลางทิวทัศน์อันสวยงามของภูเก็ต   รวมถึงการสร้างชุมชนให้กลมกลืนไปพร้อมกับธรรมชาติ  แนวคิดการพัฒนาโดยฟื้นฟูพรุจำปา คงสภาพต้นไม้เก่า เพาะกล้าใหม่ ให้เติบโตทดแทนได้อย่างยั่งยืนในอีก 4-5 ปีเพื่อการใช้ชีวิตที่ดี หลบหลีกความวุ่นวายได้อย่างสมบูรณ์แบบ

และเพื่อยกระดับ การใช้ชีวิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ตรีวนันดา ร่วมมือ คลินิก ลา แพรรี คลินิกเพื่อสุขภาพระดับโลก จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เปิดตัวและบริหารรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ “เฮลธ์ รีสอร์ท บาย คลินิก ลา แพรรี” แม่เหล็กสำคัญให้คนเข้ามาใช้ชีวิตและใช้นวัตกรรมบำบัดร่วมกับการพักอาศัยไปกับธรรมชาติ 

ตรีวนันดา อาณาจักร600ไร่

 

นายกิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี  ประธานกรรมการบริหาร มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป  ให้สัมภาษณ์ ถึงแผนพัฒนาโครงการตรีวนันดา ว่า ที่ดินผืนนี้ซื้อสะสมมานาน และมีสภาพเป็นป่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด พบว่า คนต้องการใกล้ชิดธรรมชาติ เน้นความเป็นกรีนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมใส่ใจดูแลสุขภาพ และความยั่งยืน โดยเลือกที่จะพัฒนาโครงการ เพียง 15% จากพื้นที่ 600 ไร่ มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทโดยไม่รวมมูลค่าที่ดินซึ่งแผนพัฒนากำหนดไว้ 5 ปีนับจากนี้   

 นายกิตติศักดิ์ อธิบายว่า  ตรีวนันดาแปลว่า “ป่าสุขแห่งความยั่งยืน” ซึ่งมี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1 เฮลธ์ รีสอร์ต บาย คลินิก ลา แพรรี แห่งแรกในทวีปเซาธ์ อีสเอเชีย  2. เรสซิเด้นซ์  ที่พัฒนาต่อยอดความสำเร็จมาจาก ตรีสราโรงแรมระดับลักชัวรี และ 3.ป่าพรุทำหน้าที่เก็บนํ้ามาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งตั้งใจให้ตรีวนันดา เป็นหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวอนุรักษ์ในภูเก็ตและประเทศ

กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี

ธรรมชาติบำบัด

“การร่วมมือกับ คลินิก ลา แพรรี จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการที่พักอาศัยด้านเวลเนสของเอเชีย ในโลกยุคหลังโควิดที่เต็มไปด้วยความเครียดและปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ โครงการตรีวนันดา คือความตั้งใจของเราในการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อสุขภาพระดับโลก ให้คนทุกวัยได้มาดูแลสุขภาพร่างกาย และสร้างสมดุลให้ชีวิตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

 สำหรับคลินิก ลา แพรรี ประเทศ  สวิตเซอร์แลนด์ เปิดให้บริการ “เฮลธ์ รีสอร์ต บาย คลินิก ลา แพรรี” ในปี 2568  ประกอบด้วยวิลล่า 40 หลัง ภายในโครงการ “ตรีวนันดา ภูเก็ต” ซึ่งถือเป็นรีสอร์ตเพื่อสุขภาพแห่งแรกของคลินิก ลา แพรรี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายกิตติศักดิ์มองว่า การร่วมมือที่เกิดขึ้นมาจากแนวความคิดที่ตรงกันและลูกค้าที่เข้ามาจะมีความชอบที่คล้ายคลึงเช่นกัน 

ซีโมน จิเบอร์โทนี

นาย ซีโมน จิเบอร์โทนี  ซีอีโอ คลินิก ลา แพรรี สะท้อนว่า จากประสบการณ์ของคลีนิกในการให้บริการมากว่า 90 ปี ได้พัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมาย ดูแลสุขภาพชีวิตยืนยาว มุ่งหวังทำให้สุขภาพคุณภาพชีวิตดีขึ้น  โดยวิชั่นมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดี และการมีแนวคิดที่คล้ายกันทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นที่แรกในเซาธ์อีสเอเชีย นอกจากนี้จะมีที่จีนและสปป.ลาว

 โดยหลักๆจะ รักษาโดยใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง โภชนาการเกี่ยวกับร่างกาย  มีเวลบีอิ้ง การทำสปา ที่ไม่ใช่แค่สปา แต่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  เครื่องมือทันซึ่งมี 4 ส่วนในการแนะนำให้คำปรึกษา

 “โจทย์ ทำให้อายุยืนยาว ต้องทำให้ครบ 4 ด้าน คือ การตรวจ อาหาร อารมณ์  และการสอนให้มีสุขภาพที่ดีแต่ในมุมกลับกัน  แม้อายุประชากรจะยืนยาวขึ้นแต่บางกลุ่ม อาจอายุสั้นลงจากโควิด, การเจ็บป่วย, ยา และการเลือกใช้ชีวิตที่ผิดๆ แต่ เราจะสอนว่าให้ทำอย่างไรให้มีอายุยืนยาวขึ้น โดยเราลงทุนเทคโนโลยีที่ดีมาปรับใช้ชีวิตที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทุน”

นี่คือการลงทุนที่น่าจับตายิ่ง เพราะจะสร้างมูลค่าแห่งความสุขอย่างมหาศาลที่มากกว่าเงินทอง สำหรับ  ตรีวนันดา และ ลา แพรรี!!!

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,989 วันที่ 5 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พื้นที่สีเขียวในโครงการ