พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฟันเฟืองขับเคลื่อนตลาดที่อยู่อาศัย ใต้เศรษฐกิจสีรุ้ง

17 มิ.ย. 2567 | 01:23 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2567 | 01:45 น.

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) วิเคราะห์ “พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม” LGBTQIAN+ ฟันเฟืองขับเคลื่อนตลาดที่อยู่อาศัย ภายใต้เศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy)

 

ปี 2567 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ชาวไทย หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมานี้ ได้เป็นนิมิตหมายอันดีในการเปิดประตูแห่งความเสมอภาคทางเพศในไทยให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

โดยมีกฎหมายมารองรับและให้สิทธิต่าง ๆ แก่คู่รัก LGBTQIAN+ อย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างที่สร้างความไม่เสมอภาคทางเพศให้น้อยลงไป ซึ่งหากมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ไทยจะถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIAN+ สมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย

 การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่สำคัญ และเป็นโอกาสของภาครัฐรวมถึงภาคธุรกิจที่จะดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ข้อมูลจาก LGBT Capital  คาดการณ์ว่า อำนาจการใช้จ่ายโดยรวมทั่วโลกของฐานผู้บริโภค LGBTQIAN+ (LGBT-GDP) ในปี 2566 จากจำนวนประชากร 388 ล้านคนทั่วโลก (อายุ 15 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ในจำนวนนี้คิดเป็น LGBTQIAN+ ชาวไทยประมาณ 3.7 ล้านคน และมีอำนาจการใช้จ่ายอยู่ที่ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้ และยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจอสังหาฯ ในการตอบโจทย์และเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy)

  สมรสเท่าเทียม

พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม บันไดก้าวสู่สิทธิพื้นฐานสำหรับคู่รักทุกเพศ

นอกจาก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมาพร้อมสิทธิในการสมรสที่ครอบคลุมทุกมิติ ดังนี้ 

  • สิทธิในการหมั้น แต่งงาน และหย่าร้าง คู่สมรส LGBTQIAN+ จะได้รับสิทธิตามกฎหมายในการหมั้น หรือแต่งงาน ซึ่งสามารถจดทะเบียนสมรสในไทยและใช้สิทธิคู่สมรสได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง รวมไปถึงในกรณีที่ต้องการหย่าร้างทั้งโดยสมัครใจหรือฟ้องหย่า ก็มีสิทธิได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมเช่นกัน
  • สิทธิในการเป็นผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมร่วมกัน ช่วยให้คู่สมรส LGBTQIAN+ สามารถรับบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมของตนได้ ต่างจากเดิมที่กลุ่ม LGBTQIAN+ จะสามารถเป็นผู้ปกครองบุตรบุญธรรมได้เพียงคนเดียว เนื่องจากไม่ได้เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมายเหมือนคู่ชายหญิง
  • สิทธิในการดูแลชีวิตของคู่สมรสตามกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิในการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่ายได้ในฐานะคู่สมรส และเป็นผู้ตัดสินใจแทนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ คู่สมรส LGBTQIAN+ ยังมีสิทธิรับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรสเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และสิทธิประกันสังคม
  • สิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรส หากผู้ที่ได้รับมรดกเป็นคู่สมรส LGBTQIAN+ ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง คู่สมรสจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตจะถือเป็นทายาทโดยธรรมอันมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตได้ตามกฎหมายเช่นกัน 
  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินหรือสินสมรสร่วมกัน โดยคู่สมรส LGBTQIAN+ จะมีสิทธิในการบริหารจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมาย ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือโดยระบุว่าเป็นสินสมรส รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งรวมไปถึงการถือครองอสังหาฯ อย่างบ้าน/คอนโดมิเนียมเช่นกัน

เศรษฐกิจสีรุ้ง

 จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมเป็นเหมือนบันไดนำพาคู่รัก LGBTQIAN+ ไปสู่สิทธิขั้นพื้นฐานในหลากหลายด้าน รวมไปถึงการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างการเปิดโอกาสในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาฯ ในฐานะคู่สมรส ข้อมูลจากรายงานดัชชีความเชื่อมั่นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในภาพรวมของไตรมาส1ปี2567 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์(REIC) เผยว่า

ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่ม LGBTQIAN+ ถึง 4.9% โดยความต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัย 4 ถือเป็นเทรนด์ที่ปราศจากเพศ (Genderless) และผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIAN+ ต่างก็มีความต้องการที่อยู่อาศัยที่ไม่ต่างจากผู้บริโภคในกลุ่มอื่น ดังนั้นจึงควรได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เท่าเทียมกัน ปลดล็อกความเสมอภาคในการซื้อที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIAN+ ด้วย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม 

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty)แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย วิเคราะห์ว่า แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ยังไม่มีการรับรองความสัมพันธ์แบบคู่สมรสอย่างเป็นทางการ จึงส่งผลต่อการใช้สิทธิกู้ร่วมในการซื้ออสังหาฯ ของคู่รัก LGBTQIAN+ โดยทั่วไปแล้วหากเป็นการกู้เพียงลำพัง ชาว LGBTQIAN+ จะสามารถยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ทันทีเพียงแต่จะมีข้อจำกัดอยู่ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อในฐานะผู้กู้ร่วมได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของธนาคารที่ระบุว่าผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกัน ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ขณะที่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่รองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ จึงทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีผลทางนิตินัย

  ฟันเฟืองกระตุ้นตลาดอสังหาฯ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีหลายธนาคารที่จัดแคมเปญพิเศษเพื่อเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIAN+ สามารถกู้ซื้อบ้าน/คอนโดฯ ร่วมกันได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเพศอีกต่อไป โดยส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดเบื้องต้นที่คล้ายคลึงกัน เช่น 

  • มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • มีรายได้มั่นคง โดยมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม (บางธนาคารกำหนดให้ผู้กู้หลักมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป)
  • พนักงานประจำต้องมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (บางธนาคารไม่มีกำหนด)
  • ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, เปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน, รูปถ่ายงานมงคลสมรส หรือรูปภาพเพื่อยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริง ๆ เป็นต้น (บางธนาคารไม่มีกำหนด)

 

นอกจากนี้ ผู้กู้ยังต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไป คือต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ มีเงินออมอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีบันทึกการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน โดยวงเงินกู้ที่ได้รับอาจได้ 100% ตามที่ยื่นกู้หรือแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคาร/สถาบันทางการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดหนี้เสีย ผู้บริโภคจึงควรเตรียมความพร้อมทางการเงิน โดยมีวินัยในการเก็บออมเงิน ลดภาระหนี้ที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินที่ดีและแสดงความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การยื่นกู้ซื้อบ้าน/คอนโดฯ ผ่านไปได้ด้วยดี และได้วงเงินที่ครอบคลุมเพียงพอในการซื้อที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้น

 

ทางเลือกช่วยให้คู่รัก LGBTQIAN+ กู้ร่วมได้ แม้ยังไม่ได้เป็นคู่สมรส

จากข้อจำกัดในการขอกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQIAN+ ตามที่กล่าวมานั้น จึงทำให้เกิดทางเลือกในการใช้สินเชื่อประเภทอื่นในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยบางธนาคารจะมีสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME ที่คู่รัก LGBTQIAN+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ 

 

อย่างไรก็ดี การใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME ถือได้ว่าเป็นเพียงทางเลือกในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เนื่องจากมาพร้อมความท้าทายที่ควรพิจารณา ทั้งในเรื่องของระยะเวลากู้นานสุดที่ได้เพียง 10 ปีเท่านั้น ต่างจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30-40 ปี และอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME ที่มีอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น คู่รัก LGBTQIAN+ จึงควรพิจารณาและศึกษารายละเอียดของแคมเปญสินเชื่อต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย โดยคำนึงจากพื้นฐานความเหมาะสมในการอยู่อาศัยจริงและความพร้อมทางการเงินเป็นหลัก 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อควรคำนึงที่สำคัญเมื่อคู่รักทุกเพศวางแผนจะกู้ร่วมคือกรรมสิทธิ์บ้านจะเป็นของทั้งสองฝ่าย หากในอนาคตมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการจะโอนหรือขายให้แก่ผู้อื่น จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้กู้ร่วมทุกราย แม้ว่าความจริงผู้กู้หลักจะเป็นผู้ผ่อนแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม นอกจากนี้ หากมีปัญหาต้องการกรรมสิทธิ์คืน ผู้กู้อาจจะต้องดำเนินการฟ้องร้องและหาหลักฐานการผ่อนชำระ เพื่อมาสนับสนุนให้เห็นว่าผู้กู้หลักเป็นผู้ผ่อนแต่เพียงผู้เดียวจริง ๆ และอาจใช้เวลาในการฟ้องร้องพอสมควร

 

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายในอนาคต ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีหลายธนาคาร/สถาบันการเงินที่เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIAN+ สามารถยื่นเรื่องกู้สินเชื่อร่วมกันได้ผ่านแคมเปญพิเศษ โดยมีเงื่อนไขในการพิจารณาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลธนาคารที่ให้สินเชื่อสำหรับผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งข่าวสารและเรื่องราวน่ารู้ในแวดวงอสังหาฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้ชาว LGBTQIAN+ ได้ศึกษาประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกที่อยู่อาศัย พร้อมเป็นแหล่งรวมประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ ช่วยให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถเตรียมความพร้อมก่อนเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น