อสังหาฯ กทม.-ปริมณฑล ดิ่งหนัก! REIC เผยยอดขาย Q1 ร่วง -26.6% คาดทั้งปี -8.4%

20 มิ.ย. 2567 | 09:04 น.

REIC ชี้ผลสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/2567 ซบเซา ยอดขายรวมลดลงถึง -26.6% จำนวนหน่วยคงเหลือพุ่งเพิ่มขึ้น 16.4% คาด กระทบตลอดทั้งปีให้ยอดขายลดลง -8.4% ฉุดสินเชื่อใหม่ลด -0.03%

ด้วยแรงกดดันจากเศรษฐกิจชะลอตัวและปัจจัยลบในภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลในไตรมาสแรกของปี 2567 ซบเซาอย่างหนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยผลการสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุด ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 2567 ระบุว่า ในไตรมาส 1/2567 มียอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่รวม 15,619 หน่วย ลดลงถึง -26.6% มูลค่าประมาณ 90,069 ล้านบาท คิดเป็น -14.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่อ่อนแรงลงมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่โครงการใหม่เปิดตัวน้อยลง โดยในไตรมาสนี้มีโครงการเปิดตัวใหม่เพียง 16,356 หน่วย ลดลง -24.4% แต่มีมูลค่าสูงเกือบ 119,232 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 45.3% จากปี 2566 ในไตรมาสเดียวกัน คิดเป็นโครงการบ้านเดี่ยวซึ่งเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 85.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 157.7% ในขณะที่การเปิดตัวใหม่ในกลุ่มโครงการอาคารชุดลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลง -40.0% และมูลค่าลดลง -2.3% สะท้อนให้เห็นว่าโครงการใหม่ซึ่งเปิดตัวในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโครงการบ้านเดี่ยวที่อยู่ในระดับราคาแพง

 

ยอดขายใหม่ลด อัตราดูดซับต่ำ สต๊อกล้น

ด้านยอดขายได้ใหม่ พบว่า ยังมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดขายใหม่ จำนวน 15,619 หน่วย มูลค่า 90,069 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ลดลงถึง -26.6% และมูลค่าลดลง -14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย ส่งผลให้สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้าง 213,429 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 36.5% บ้านจัดสรรเหลือขายเพิ่มขึ้น 12.8% และอาคารชุดเหลือขายเพิ่มขึ้น 22.3% 

REIC ยังระบุว่า อัตราการดูดซับหรืออัตราการขายของที่อยู่อาศัยในภาพรวมตลาดไตรมาสที่ 1/2567 ลดลงมาอยู่ที่ 2.3% เทียบเป็นระยะเวลาในการขายจนหมดถึงประมาณ 40 เดือน  โดยอัตราดูดซับประเภทบ้านจัดสรรอยู่ที่ 2.3% และอาคารชุดที่มีอัตราดูดซับลงมาอยู่ที่ 2.2% ในขณะที่อัตราดูดซับไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 3.5% เทียบเป็นระยะเวลาในการขายจนหมดประมาณ 25 เดือน อาจกล่าวได้ว่าอัตราดูดซับในไตรมาสแรกปีนี้ต่ำกว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีอัตราดูดซับอยู่ระหว่าง 2.5-2.7%

สถานการณ์บ้านแนวราบ-คอนโดมิเนียม

ตลาดบ้านแนวราบในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า หน่วยที่มีการเสนอขายที่อยู่อาศัยแนวราบมีจำนวนทั้งสิ้น 137,483 หน่วย มูลค่า 910,268 ล้านบาท  จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 10.1% ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้น 33.5% ยอดขายได้ใหม่ของที่อยู่อาศัยแนวราบในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 9,679 หน่วย ลดลง -16.1% มูลค่า 62,863 ล้านบาท ลดลง -9.3% 

สำหรับตลาดอาคารชุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า มีการเสนอขายอาคารชุด 91,565 หน่วย เพิ่มขึ้น 14.9% มูลค่ารวม 397,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดขายได้ใหม่ของอาคารชุดที่เกิดในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่าจำนวน 5,940หน่วย มูลค่า 27,207 ล้านบาท ลดลง -39.0% และ -24.5% ตามลำดับ

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์

จากสถานการณ์ดังกล่าว REIC จึงคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยจะมียอดขายใหม่รวม 67,696 หน่วย มูลค่า 3.42 แสนล้านบาท ลดลง -8.4% จากจำนวนหน่วย และ -11.2% จากมูลค่า  แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 37,883 หน่วย มูลค่า 238,919  ล้านบาท และโครงการ อาคารชุด 29,813 หน่วย มูลค่า 103,380 ล้านบาท ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งปีมีจำนวน 246,280 หน่วย มูลค่ารวม 1.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.3% และ 18.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผลกระทบจากยอดขายใหม่ที่มีทิศทางปรับตัวลง จากภาวะเศรษฐกิจซึ่งยังคงมีทิศทางชะลอตัว และปัจจัยลบต่างๆ จะส่งผลโดยตรงต่อยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 678,151 ล้านบาท หรือ ลดลง -0.03% และจะกระทบจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 372,877 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,074,080 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.6% และ 2.6% ตามลำดับ