สคบ. ออกกฎเข้ม “จองห้องชุด” อยู่ในข่ายควบคุมสัญญา

28 มิ.ย. 2567 | 04:01 น.

สคบ. เตรียมออกประกาศคุมเข้มสัญญาจองห้องชุด หลังได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 400 ราย เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศจากทุกภาคส่วน แล้วเสร็จ 25 มิ.ย. ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำความคิดเห็นไปทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขร่างประกาศ

ปัจจุบันการซื้อคอนโด มิเนียมกลายเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับคนเมืองที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองบนที่ดินที่จำกัด แต่ความฝันของหลายคนกลับต้องสะดุดตั้งแต่ขั้นตอนการจอง เมื่อพบว่าตัวเองถูกเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือการโฆษณาที่เกินจริง ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  (สคบ.) เตรียมออกประกาศคุมเข้มสัญญาจองห้องชุด โดยที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 400 ราย เกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริงและข้อตกลงไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในช่วงการจองห้องชุดจากผู้บริโภค จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการนำความคิดเห็นไปทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว

ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการขายห้องชุดที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้ธุรกิจการขายห้องชุดที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยสัญญาจองห้องชุดที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไขตามแบบสัญญามาตรฐานท้ายประกาศ ครอบคลุมไปถึงกรณีที่มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นคนกลางในการขายห้องชุดที่มีการจองด้วย โดยผู้ประกอบธุรกิจยังคงต้องส่งมอบสัญญาจองห้องชุดตามแบบสัญญาท้ายประกาศให้แก่ผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

สำหรับร่างแบบสัญญามาตรฐานที่สคบ. ได้กำหนดนั้น มีการระบุรายละเอียดสำคัญ เช่น ข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค รายละเอียดของห้องชุดที่จอง ราคา และเงื่อนไขการชำระเงิน นอกจากนี้ยังกำหนดสิทธิของผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ รวมถึงสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจในการบอกเลิกสัญญาหากผู้บริโภคไม่เข้าทำสัญญาซื้อ-ขายภายในกำหนดเวลา

นอกจากนี้ ในร่างประกาศฉบับนี้ ยังห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภคโดยไม่ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือ ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจริบเงินทั้งหมดหรือบางส่วนเว้นแต่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา รวมถึงข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการกำหนดให้เงินจองหรือประโยชน์อื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกับเงินจองที่ไม่ใช่เงินมัดจำหรือเงินดาวน์ในสัญญาเป็นเงินมัดจำหรือเงินดาวน์

ร่างประกาศยังระบุว่า สัญญาจองห้องชุดต้องจัดทำขึ้นสองฉบับซึ่งมีข้อความถูกต้องตรงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสัญญาจองห้องชุดหนึ่งฉบับให้แก่ผู้บริโภคทันทีที่ได้ลงนามในสัญญา สำหรับกรณีการขายห้องชุดที่มีการจองผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด

สคบ. ออกกฎเข้ม  “จองห้องชุด” อยู่ในข่ายควบคุมสัญญา

อ่านร่างประกาศฉบับเต็มและร่างแบบสัญมาตรฐานได้ที่ เว็บไซต์ของสคบ.

ทั้งนี้ สคบ. เห็นว่าการออกประกาศดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และไม่ได้เป็นภาระมากเกินความจำเป็นของผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันสัญญาในการจองยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมและยังมีช่องว่างอยู่ จึงต้องช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากขึ้น

ด้านตัวแทนจากผู้ประกอบการ บางรายได้แสดงความกังวลว่า อาจมีช่องว่างให้นักเก็งกำไรเข้ามาหาผลประโยชน์โดยอ้างตนว่าเป็นผู้บริโภค ซึ่งทาง สคบ. ได้รับฟังข้อกังวลดังกล่าวและนำไปทบทวนแก้ไขประกาศต่อไปเพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่นี้ได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ด้านผู้บริโภคควรศึกษารายละเอียดของประกาศฉบับนี้เพื่อรับทราบสิทธิของตนเองในการทำสัญญาจองซื้อห้องชุด และหากพบว่าถูกเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อไป

การออกประกาศฉบับนี้ถือเป็นความพยายามของ สคบ. ในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการจองซื้อห้องชุดในโครงการที่ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้บริโภคมักประสบปัญหาและถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ การมีกฎระเบียบที่ชัดเจนและเป็นธรรมจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป