ดัชนีราคาก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 3.8% วัสดุ-แรงงานดันต้นทุนพุ่งสูง!

16 ก.ค. 2567 | 07:04 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 07:50 น.

REIC เผยดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 139.1 เพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีราคาก่อสร้างบ้านมาตรฐานไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 139.1 เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นถึงราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน มีทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะเพียงเล็กน้อย

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีราคาก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ โดยเฉพาะในหมวดงานสถาปัตยกรรมที่เพิ่มขึ้น 5.8% และหมวดงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารที่เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้างยังคงที่ และหมวดงานระบบสุขภิบาลลดลง 0.1%

ดร.วิชีย วิรัตกพันธ์

ทั้งนี้ งานสถาปัตกรรมคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบทั้งหมด โดยคิดเป็น 67% รองลงมาคือ งานวิศวกรรมโครงสร้าง 26.9% งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร 3.5% และงานระบบสุขาภิบาล 2.6%

ในส่วนของวัสดุก่อสร้าง ที่มีสัดส่วน 59.8% ของราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานทั้งหมด พบว่าราคาปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 6.8% เป็นผลมาจากราคาของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และบานประตู ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งค่าดำเนินการและค่าขนส่ง รวมถึงอุปทานที่จำกัดและความต้องการใช้ในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน

รองลงมาคือหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น 3.3% เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักในการผลิต เช่น น้ำมันดิบ และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านหมวดผลิตภัณฑ์กระเบื้องเพิ่มขึ้น 1% และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เพิ่มขึ้น 0.6%

อย่างไรก็ตาม มีบางหมวดที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก -4.7% หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต -2.5% และหมวดสุขภัณฑ์ -0.2%

โดยไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ คิดเป็นสัดส่วน 29.4% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง ตามมาด้วย เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 8.6% ผลิตภัณฑ์คอนกรีต 6.7% อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา 6% กระเบื้อง 5.5% สุขภัณฑ์ 3.2% และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ 41.4%

สำหรับหมวดแรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 40.2% ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาก่อสร้างบ้านไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ยังสะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างและความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องในตลาดเช่นกัน