อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป แข่งขันรุนแรงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สะท้อนจากภาคเอกชนขยับลงทุนโครงการมากขึ้น ขณะความพร้อมของโรงงานในรูปแบบดังกล่าว อาจล้มหายตายจาก จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนโรงงานที่เหลืออยู่ หากไม่ปรับตัวก้าวทันเทคโนโลยีและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ประเมินว่าอาจเสียเปรียบคู่แข่งได้
บริษัท ซีแพนเนล จำกัด(มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป(Precast Concrete) ด้วยระบบอัตโนมัติ สำหรับงานก่อสร้างโครงการอสังหา ริมทรัพย์ โดยช่วงปี2567 ได้ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานเดิม จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต อยู่ที่7.9แสนตารางเมตร ต่อปี จะเพิ่มอีก25% เป็น 9.9แสนตารางเมตร และเปิดโรงงานแห่งที่2 มุ่งเน้นกลยุทธ์สู่ “Green Construction Technology”
พร้อมเดินเครื่องได้เต็มทั้งปี ภายในปี2568 ส่งผลให้ CPANEL มีกำลังการผลิตทั้งสองโรงงานรวมกันราว 2 ล้านตารางเมตรต่อปีโดยจะเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศไทย และมีเป้าหมายผลักดันธุรกิจไปสู่ Net Zero ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ ค.ศ. 2065 (ปี2608)
ขยายโรงงานเพิ่มขีดแข่งขัน
นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ CPANEL เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การขยายโรงงานใหม่ และลงทุนเครื่องจักรเพิ่มสำหรับโรงงานเดิม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าและเปิดโอกาสขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น อาทิโรงแรม โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน โรงงานนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ
ที่เป็นจุดแข็ง ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป ที่ผลิตออกมา ลดคาร์บอน มองว่า จะได้รับความนิยมสูงมากขึ้นโดยเฉพาะ ในย่านกลางเมือง เขตกรุงเทพมหานครที่ต้องการความเร็วในการก่อสร้างลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความได้เปรียบ ลดข้อร้องเรียนของประชาชน
“บริษัทเคยรับงานก่อสร้างโครงการบ้านหรู มีที่ดินตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนใหญ่ ติดโรงเรียนดัง หากเป็นการก่อสร้างแบบปกติทั่วไปยอมรับว่าทำได้ยาก แต่ระบบคอนกรีตสำเร็จรูปใช้เทคโนโลยีชั้นสูง นอกจาก ใช้เวลาติดตั้งไม่นานแล้ว ยังลดมลพิษทางเสียง แรงสั่นสะเทือน รวมถึงลดฝุ่น PM2.5 ลดคาร์บอน ซึ่งกลายเป็นจุดขายสำหรับ การก่อสร้างในพื้นที่จำกัดและอยู่ในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นใจกลางเมือง รวมถึงอาคารสูงที่ต้องการความรวดเร็วในการเปิดใช้งาน”
นายชาคริต อธิบาย ว่าปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบรอบตัว โรงงานในกรุงเทพมหานคร ถูกปิดเกือบทั้งหมด เนื่องจาก “ประชากรมา โรงงานออกไป” ที่ดินมีราคาสูง กระทั่งโรงงานแบกรับไม่ไหว ผู้อยู่อาศัย จุกจิก กระทั่งโรงงานต้องย้ายออกนอกพื้นที่
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น บริษัทมีแนวคิดพัฒนาโรงงานที่จังหวัดชลบุรี ให้ มีโรงบำบัดนํ้าเสียขนาดใหญ่ เทียบเท่านิคมอุตสาหกรรม ช่วยลดผลกระทบชุมชนโดยรอบไม่ทำให้เดือดร้อนรำคาญ สร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐว่าโรงงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้คนรอบข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงความเป็นอยู่ของพนักงาน
ขณะกระบวนการผลิตทั้งสองโรงงานถือเป็นโรงงานPrecast Concrete ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงทั้งเรื่องของการออกแบบ ความรวดเร็ว ปริมาณ และคุณภาพรวมถึงลดความผิดพลาดความสูญเสียในการผลิตถือเป็นจุดเด่นและข้อได้เปรียบของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเริ่มดำเนินการของโรงงานผลิตแห่งที่2 จะเพิ่มการบริหารจัดการการควบคุมต้นทุนการผลิตและการขายได้ดีขึ้น
อีกทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่เร็วกว่าเดิม 30%ใช้แรงงานน้อยกว่าเดิมรวมถึงค่าบริหารจัดการและบุคลากรในกระบวนการผลิตจากเดิม 15%ของรายได้จะลดลงเหลือ 7% โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสการรับงานรองรับความต้องการขอลูกค้ามากขึ้นและส่งผลให้บริษัทมี Economy of Scale เพิ่มความสามารถการทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง
เศรษฐกิจผันผวน
จากสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การขยับของโครงการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนลดลงกระทบถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตามบริษัทได้ปรับตัวและหันมาเจาะตลาดรับงานภาครัฐ ตั้งแต่สถานการณ์โควิด และมีเป้าหมายขยายฐานรับงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นเจาะตลาดโครงการของภาคเอกชน ต่อเนื่อง ในกลุ่มระดับบน ตลาดหัวเมืองใหญ่ ที่ยังเติบโตรวมถึงโรงงานโรงแรม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ไตรมาส4โครงการภาครัฐโต
ล่าสุดไตรมาส4 ปี 2567 นายชาคริต มองว่า มีสัญญาณการเติบโตของงานกลุ่มโครงการภาครัฐต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนความต้องการที่อยู่อาศัยแนวสูงในเมืองใหญ่และแนวโน้มการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนมากขึ้น ผลักดันให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างคุณภาพสูงเพิ่มขึ้น จึงปรับกลยุทธ์เพื่อลดความผันผวน กระจายความเสี่ยง และรองรับการเติบโตในระยะยาว
“มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าในกลุ่มภาครัฐและงานเอกชนประเภทโครงการแนวสูงมากขึ้น รวมถึงงานอาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนงาน ภาครัฐที่ 40% ภาคเอกชน 60% ทั้งนี้ คาดว่าจะมีโอกาสเข้ารับงานกลุ่มงานภาครัฐ และงานใหม่เข้ามาเพิ่ม ในช่วงไตรมาส 4/2567 เป็นต้นไป”
พัฒนาผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิต รองรับงานโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงและงานโครงการภาครัฐ เปิดโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น รักษาปริมาณงานในมือ (Backlog) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 1,418 ล้านบาท
อีกทั้งมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตบนโลก และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดย CPANEL เป็นบริษัทผู้ผลิตแผ่นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Carbon Footprint Organization (CFO)
“ถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 การก่อสร้างของภาคอสังหาริมทรัพย์และงานโครงการภาคเอกชน ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง มีผลการดำเนินงานดีกว่าค่าเฉลี่ยของภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้าง บริษัทฯ มั่นใจว่าด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจนและความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน CPANEL จะสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในตลาดผนังคอนกรีตสำเร็จรูปของประเทศไทย” นายชาคริต กล่าว
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,043 วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567