การออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยนอกจากความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสะดวกสบาย คุณภาพการอยู่อาศัยตามความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ที่สำคัญต้องสอดประสานนวัตกรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งผลงานการคว้ารางวัลในระดับต่างๆ
นายวิชา วรสายัณห์ ลีดเดอร์ กลุ่มธุรกิจเฮาส์ซิ่งเทคโนโลยี บริษัท แอล เอช ที เอเซีย เซลส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมสำเร็จรูป แบรนด์ ทอสเท็ม (TOSTEM) เปิดเผยว่า กิจกรรมการประกวด TOSTEM Asia Design Award (TADA) 2024 เป็นการประกวดสถาปัตยกรรมระดับเอเชีย ครั้งที่ 2
โดยรวบรวมผลงานของสถาปนิกทั่วเอเชีย ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน และ ไทย ร่วมส่งผลงานการออกแบบ ของสถาปนิกที่มีประสบการณ์ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ TOSTEM ซึ่งผลงานเหล่านั้นควรสะท้อนถึง ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หรือแสดงการออกแบบในรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่พิถีพิถัน
คำนึงถึงบริบททางสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ลึกซึ้ง และทุกผลงานที่ส่งเข้าร่วมต้องแสดงถึงศักยภาพของการออกแบบที่ใช้ผลิตภัณฑ์ TOSTEM ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ แสดงการผสานผลิตภัณฑ์ให้เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น พร้อมในการสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
โดยในปีนี้ทาง TOSTEM มีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ชนะจากการประกวด TADA 2023 มาร่วมคัดเลือกผลงานของสถาปนิกที่ชนะรางวัลในปีนี้ด้วย พร้อมรางวัลในปีนี้ที่แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ รางวัล Building of the Year และ Special Mention for Sustainable Living ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวไทย สามารถสร้างชื่อเสียงคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 ผลงานด้วยกัน จากผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 10 รางวัล ประกอบไปด้วยผลงานดังนี้
รางวัล Building of the Yearชื่อผลงานโปรเจกต์ “Dog/Human” จาก EKAR – Architects
สถาปนิกผู้ออกแบบ นายเอกภาพ ดวงแก้วผลงานที่สร้างความประทับใจจากแนวคิดการออกแบบบ้านที่ผสานมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติอย่างลงตัว การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงทัศนวิสัยและการสื่อสารระหว่างมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยโจทย์ของการออกแบบในโปรเจกต์นี้มาจากลูกค้ามีความตั้งใจที่จะสร้างบ้านไม่ใช่แค่เพื่อมนุษย์เท่านั้น
แต่ยังรวมถึงสุนัขของเขาและสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของคนอื่นๆ ด้วย บ้านหลังนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยของสุนัขด้วย โดยพื้นที่หลักซึ่งรวมถึงพื้นที่รับรองทางเข้าหลัก และที่อยู่อาศัยของลูกค้า ตั้งอยู่ใต้หลังคาทรงสามเหลี่ยม ความลาดเอียงของหลังคาบ่งบอกถึงความสูงที่เหมาะสมสำหรับทั้งมนุษย์และสุนัข เพื่อสร้างพื้นที่ที่สะดวกสบายที่สุด
ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองให้เห็นกิจกรรมเฉพาะบางอย่าง กระเบื้องมุงหลังคาแบบบิทูเมน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความนุ่มนวลเมื่อสัมผัส ถูกเลือกใช้แทนแผ่นเหล็กธรรมดา เพื่อให้รู้สึกสบายในการสัมผัสสำหรับผู้ใช้งาน ฐานเสาถูกออกแบบเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการสร้างอาณาเขตของสุนัข โดยปราศจากการป้องกันใดๆ เพื่อให้สุนัขรู้สึกสบายที่สุดในการใช้ชีวิตทุกที่ บันไดสระว่ายน้ำถูกออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดของสุนัข
เพื่อให้สามารถลงสระน้ำได้อย่างสะดวก มีการใช้กระจกใสและกรอบบานอลูมิเนียมประตูและหน้าต่างของแบรนด์ TOSTEM ที่เชื่อมต่อ ภายในและภายนอกได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่ขัดขวางการสัมผัสกับธรรมชาติ และยังมี ประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงได้ดี การเปิดประตูบานเลื่อนกระจก (TOSTEM) เพื่อชมสัตว์เลี้ยงโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด การออกแบบดังกล่าวไม่เพียงแต่เสริมสร้างการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้อย่างลงตัว
รางวัล Special Mention for Sustainable Living ชื่อผลงานโปรเจกต์ “TNOP HOUSE” จาก IS Architects
สถาปนิกผู้ออกแบบ นายปวิณ ทารัตน์ใจผลงานการออกแบบบ้านพักตากอากาศในจังหวัดเชียงราย ท่ามกลางธรรมชาติ ที่สอดรับกับบริบทพื้นที่ และเสน่ห์วิถีชนบท พร้อมตอบโจทย์ความเป็นพื้นที่เติมความสงบสุขส่วนตัวของเจ้าของบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นนักออกแบบที่ชอบปลูกต้นไม้ ชอบวาดภาพ และชอบงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้คือที่มาของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งาน และด้านสุนทรียศาสตร์ ที่เน้นความสงบ เงียบ และผ่อนคลายมากที่สุด ด้วยลักษณะพื้นที่มีความลาดเอียดทาง IS Architects จึงออกแบบโดยวางแนวแกนอาคารให้ขนานกับเส้นระดับของความลาดชัน โดยบ้านฝั่งที่ติดกับถนนหลักออกแบบให้เป็นผนังปิดทึบเพื่อป้องกันทั้งมุมมองสายตา รวมไปถึงมลพิษต่าง ๆ
แต่ในอีกด้านก็เน้นเปิดรับกับธรรมชาติให้มากที่สุด โดยเน้นเปิดช่องเปิดในฝั่งที่หันหน้าสู่ทิวทัศน์ทุ่งหญ้า ถ่ายทอดงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ผสานกับความเป็นพื้นถิ่น โดยเฉพาะการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้เป็นสัดส่วนกว่า 70-80% ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหลังคา โครงสร้างไม้ตกแต่ง
กระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลเทา กระเบื้องเคลือบสีเขียว รวมถึง งานเทอร์ราซโซ และงานทรายล้างที่ทำอย่างละเอียดโดยผู้รับเหมาท้องถิ่น ภายใต้บ้านที่มีบางส่วนยกพื้นสูง เน้นรูปทรงเรียบง่าย มีชานบ้าน มีช่องเปิดให้ลมและแสงแดดผ่านเข้าไปในอาคาร ซึ่งช่วยกำจัดความชื้นและเชื้อโรคได้ดีสำหรับภูมิอากาศร้อนชื้น
นอกจากนี้ยังออกแบบเส้นสายช่องเปิด (Void) ให้มีความสวยงามในความเรียบ กำหนดให้เส้นสายทางสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ตรงกัน เช่น แกนตั้งของบานช่องเปิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบานประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม หรือประตูไม้ ถูกออกแบบให้เส้นเป็นแนวแกนเดียวกัน บานประตูหน้าต่างที่ใช้ จะต้องมีความสูงขึ้นไปสุดถึงเพดาน เพื่อให้ไม่มีเส้นแนวขวางขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดเส้นที่มากเกินไป สถาปนิกจึงเลือกใช้บานประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมของ TOSTEM โทนสี DUSK GRAY ในรุ่น WE Plus และ WE 70
เพื่อให้โทนสีลงตัวในภาพรวมทั้งหมดมากกว่าการเลือกใช้สีขาวหรือดำ อีกทั้งทำเลที่ตั้งของพื้นที่ตัวบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ฝุ่น ควัน เสียง รวมทั้งมลพิษ PM2.5 ที่ต้องเผชิญในช่วงฤดูร้อน ทำให้ต้องมีแนวทางป้องกันมลพิษจากภายนอก ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกใช้ประตูและหน้าต่างของ TOSTEM ซึ่งมีโซลูชั่นที่ตอบโจทย์งานสถาปัตยกรรม เพราะช่วยลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ PM 2.5 และยังช่วยป้องกันเรื่องของกลิ่น เสียง ควัน ฝุ่นต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ภายในตัวบ้านได้ ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีคุณภาพ ทำให้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รางวัล Special Mention for Sustainable Living ชื่อผลงานโปรเจกต์ “3-Gen House” จาก Architects 49 Chiangmai Limited
สถาปนิกผู้ออกแบบ นายรัฐวุฒิ จันทร์ศรีตระกูล และ นายกิตติธัช นิลสุวรรณผลงานการออกแบบบ้านที่รองรับสมาชิกครอบครัวหลายวัย ตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า คุณพ่อคุณแม่ และรุ่นลูก ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน กับการออกแบบที่ผสมผสานความต้องการที่แตกต่างของทั้ง 3 รุ่น โดยการสร้างสรรค์พื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความเป็นส่วนตัวแต่ก็ยังมีความอบอุ่นในรั้วบ้านเดียวกัน เป็นที่มาของชื่อบ้าน 3-Gen House บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีกลิ่นอายล้านนาร่วมสมัย ตั้งอยู่เคียงริมแม่น้ำปิงท่ามกลางแมกไม้ มีภาพของเทือกเขาสุเทพ-ปุยเป็นฉากหลัง เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสานกลมกลืนกับวิถีชีวิตริมน้ำเดิม ในขณะเดียวกันก็เติมเต็มชีวิตการอยู่อาศัยของคนแต่ละรุ่น
โดยสถาปนิกได้หยิบยืมรูปแบบการวางผังของบ้านจีนที่มี “ลานกลางบ้าน” และปิดล้อมด้วยอาคารทั้งสี่ทิศ โดยพื้นที่คอร์ตยาร์ด เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทุกคนสามารถใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ตัวบ้านประกอบด้วยกลุ่มเรือนสามหลัง ที่แบ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยของแต่ละเจน ได้แก่ เรือนปีกซ้าย คือ เรือนของลูก ๆ เรือนประธานตรงกลาง ประกอบด้วยห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตร่วมกันของทุกคนในบ้าน ส่วนเรือนปีกขวาชั้นเดียวเป็นพื้นที่อาศัยคุณปู่คุณย่า โดยเชื่อมอาคารเข้าด้วยกันด้วยเรือนระเบียงที่มีผนังด้านนอกและมีซุ้มประตูกั้นชั้นในมาใช้ เพื่อที่จะสามารถสร้างความปลอดภัยและทำให้เกิดพื้นที่ส่วนตัวขึ้นในบริเวณลานกลางบ้าน
สำหรับวัสดุหลักของบ้านเป็นไม้เก่าที่แยกจากเรือนหลายหลังมาปรับปรุงขึ้นใหม่ ไม้ที่เหลือจากงานสถาปัตยกรรม จึงถูกนำมาใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ โดยใช้วิธีการเข้าไม้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือโดยช่างฝีมือท้องถิ่น อีกทั้งทางสถาปนิกผู้ออกแบบต้องการระบบชุดประตูหน้าต่างที่มีมาตารฐาน และการใช้งานในระยะยาวโดยไม่ต้องซ่อมบำรุงบ่อยครั้งในอนาคต สถาปนิกจึงเลือกใช้บานประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมจาก TOSTEM
เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมระบบมุ้งลวดในตัว และระบบล็อคที่ปลอดภัย คงทนต่อการใช้งาน เมื่อเข้าไปภายในอาคารจะรู้สึกถึงความปลอดโปร่งจากดีไซน์ช่องเปิด และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยไม่ให้ไม่บังวิว และไม่บังทิศทางลม โดยสามารถเปิดหน้าต่างรับลมได้ หรือสำหรับบางช่วงเดือนที่อาจต้องเผชิญกับ PM 2.5 บานหน้าต่างของ TOSTEM ก็ช่วยป้องกันมลภาวะทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้ง 3 ผลงานที่คว้ารางวัลของสถาปนิกชาวไทย เป็นการสร้างสรรค์งานออกแบบดีไซน์โดยนำสินค้าของทาง TOSTEM มาใช้เป็นองค์ประกอบในงานออกแบบได้อย่างลงตัว และสอดคล้องกับทิศทางของ TOSTEM ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และหลักการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ แสดงการผสานผลิตภัณฑ์ให้เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และยกระดับความสะดวกสบายและคุณภาพการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน