วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดงาน PIM International Hackathon ครั้งที่ 2 เปิดเวทีเยาวชนระดับนานาชาติโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ด้านความยั่งยืน นำเสนอโปรโตไทป์โปรเจ็กต์ ภายใต้แนวคิด “Sustainable Well-being towards Zero-Green-Clean Economy” ชวนโลกลด Food Waste
ในปีนี้ จากกว่า 220 ทีมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับมหาวิทยาลัยทั่วอาเซียนที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ผลงานชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ ทีม Eco-loop จากโรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ
โดย “ธนาพันธ์ ธีรธาตรี” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สาย Business-Math หนึ่งในสมาชิกทีม เล่าว่า ไอเดียของทีมคือโปรโตไทป์ E1 เป็นพื้นที่คอนเทนเนอร์และเรือนกระจก ที่นำระบบฟาร์มแมลงที่สามารถเป็นอาหารได้และฟาร์มเพาะปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์มาผสมผสานรวมกัน เพื่อให้ทั้ง 2 ฟาร์มเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
เช่น การนำปุ๋ยจากฟาร์มแมลงไปใช้ในฟาร์มเพาะปลูก การนำของเสียจากฟาร์มเพาะปลูกมาใช้เป็นอาหารแมลง พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ส่วนผลงานชนะเลิศระดับมหาวิทยาลัย ได้แก่ ทีม Go Green ซึ่งเป็นทีมที่มีนักศึกษาไทย ลาว และกัมพูชา ร่วมกันนำเสนอไอเดีย โดย “ณัฏฐ์นรี สุขสมบูรณ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ คณะวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกทีม เล่าว่า ผลงานของทีม คือ แอปพลิเคชัน Go Green แอปพลิเคชันซื้อขายอาหารและวัตถุดิบอาหาร เช่น กลุ่ม Imperfect Plant หรือผลผลิตทางการเกษตรที่รับประทานได้ แต่อาจมีรูปร่างหรือสีสันที่ไม่สวยงาม เช่น ผักที่มีรอยดำ จนไม่ผ่านการตรวจคุณภาพของห้าง โดยตัวแอปจะช่วยเชื่อมเกษตรกร ร้านอาหาร ลูกค้า ตลอดจนมูลนิธิที่จะนำอาหารไปบริจาคเข้าด้วยกัน ให้สามารถซื้ออาหารเหล่านั้นระหว่างกันได้ เพื่อช่วยลดปัญหาของเสียจากอาหาร (Food Waste)
ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล ทุนการศึกษา ตลอดจนโอกาสร่วมงานกับพันธมิตรการจัดงานโดยในงานนี้ ยังมีไอเดียอีกหลากหลายจากเยาวชน ที่นำเสนอและน่าสนใจ อาทิ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainable Living) การขจัดความหิวโหยและเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร (End Hunger & Promote Food Security) การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี (Healthy Lives & Well-being Improvement
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565