นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ดำเนินการร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ,บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ สถานีดังกล่าวอ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต
ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว
"ปตท. เล็งเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
อย่างไรก็ตาม การนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง ความร่วมมือของ 5 พันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต
โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ร่วมผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน
นายวิศาล ชวลิตานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า จากแนวโน้มการใช้พลังงานในการเดินทางและการขนส่งในปัจจุบันที่รถไฟฟ้าเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของโออาร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ
โดยผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ FCEV ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว
อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคผู้ใช้หรือมีแผนที่จะใช้รถ FCEV และพันธมิตรผู้ค้าในคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV และในอนาคตจะมีการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายปี 2030 ของ โออาร์ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไปอีกด้วย
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) กล่าวว่า บีไอจีตั้งเป้าเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) ด้วยนวัตกรรมไฮโดรเจนซึ่งถือเป็นเทรนด์ของโลกในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บีไอจีจึงได้ร่วมกับ 5 พันธมิตรในการนำนวัตกรรมจากก๊าซไฮโดรเจนมาใช้จริงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นสถานีเติมไฮโดรเจนเข้าสู่ยานยนต์แห่งแรกของประเทศไทย โดยไฮโดรเจนจากบีไอจีเป็นพลังงานสะอาดและมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้บีไอจียังมีแผนพัฒนาไฮโดรเจนทั้งในแบบคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอน ร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศในอนาคต
โดยบีไอจีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฮโดรเจนมาจากแอร์โปรดักส์ (บริษัทแม่ของบีไอจีในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและปราศจากคาร์บอนอันดับหนึ่งของโลก จึงมั่นใจได้ทั้งในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี บีไอจียังมุ่งเน้นสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการกระจายความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับไฮโดรเจนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์การเป็นผู้นำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนของประเทศไทย การนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคยานยนต์ในครั้งนี้ถือความก้าวที่สำคัญที่ช่วยประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions
นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) กล่าวว่า โตโยต้ามีความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยมีกลยุทธหลักว่าด้วยการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ในหลากหลายแนวทาง หรือ Multi Pathway เพื่อนำเสนอทางเลือกในการเดินทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ด้วยยานยนต์หลากหลายระบบขับเคลื่อน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการตอบสนองการขับเคลื่อนของทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
เพื่อให้เทคโนโลยียานยนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ถูกนำไปใช้งานได้จริง จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมกับประเทศไทย จึงได้ริเริ่มโครงการการจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ Decarbonized Sustainable City โดยมีรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง โตโยต้า มิไร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองนี้ เนื่องจากเป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนอันเป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม