net-zero

SCG ชูพลังงานหมุนเวียนธุรกิจมีศักยภาพแห่งอนาคตตั้งเป้าลงทุน 3.5 พันMW ปี 73

    เอสซีจี เร่งขับเคลื่อน Net Zero ชูการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจที่มีศักยภาพแห่งอนาคตตั้งเป้าปี 2573 ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังผลิต 3,500 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ในมือแล้ว 548 เมกะวัตต์ พร้อมนำร่องผลิตไฟฟ้า Direct PPA ป้อน Data Center

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) ภายใน ปี 2593 เพื่อตอบสนองต่อกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง เช่นพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย และ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป โดยเป้าหมายระยะสั้น ปี 2563-2573 ปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนตํ่า (Low Carbon Society) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ 2 ตามเป้าหมาย The Science Based Targets initiative หรือ SBTI ให้ได้ 25 % ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับ ปีฐาน 2563 และปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด พร้อมส่งเสริม สินค้ากรีน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 จากการขายเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ลูกค้า ภายนอกลงอย่างน้อย 25% ภายในปี 2574 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2564

ระยะกลาง 2574-2592 มุ่งขยายเทคโนโลยีการผลิตคาร์บอนตํ่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Greening Process and Technology) รวมทั้งลงทุนในนวัตกรรมและวิจัยเพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่ก้าวลํ้า (Deep Tech) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ Net Zero เช่น เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทคโนโลยีไฮโดรเจน การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage - CCUS) รวมถึงการขยายระบบพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ยังยืน และในปี 2593 บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Achieving Net Zero)

การขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของเอสซีจี เป็นการดำเนินงานการส่งเสริมการใช้และพัฒนาพลังานหมุนเวียน โดยให้บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ (SCG Cleanergy) ถือหุ้นโดย SCG 100% เป็นแกนหลักในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเห็นว่า เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพแห่งอนาคต (New S-Curve) รับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ในรายงานของเอสซีจี ระบุว่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน จะเน้นไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยเน้นขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กับภาครัฐและอุตสาหกรรมในไทยและต่างประเทศ ซึ่งตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

 

SCG ชูพลังงานหมุนเวียนธุรกิจมีศักยภาพแห่งอนาคตตั้งเป้าลงทุน 3.5 พันMW ปี 73

ปัจจุบัน เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ได้ขยายกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 548 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการภาครัฐจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเรียบเพิ่มเติมใบรูปแบบ Feed - in Tarif (FT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุมไม่มีต้บทุนเชื่อเพลัง เพิ่มเติมระยะที่ 1 พ.ศ. 2566 จากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 5 โครงการ รวมกำลังผลิต 367 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย บริษัท เอ็นพี วัดด์ จำกัด ถือหุ้น 100% ขนาด 90 เมกะวัตต์ บริษัท ซีแอลพี พาวเวอร์ จำกัด ถือหุ้น 60% ขนาด 20 เมกะวัตต์ บริษัท ซีเอ็มที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 60% ขนาด 20 เมกะวัตต์ บริษัท โวลต์ซิงค์ โซลูชั่น จำกัด ถือหุ้น 60% ขนาด 108 เมกะวัตต์ บริษัท พาวเวอร์ ซี.อี. จำกัด ถือหุ้น 60% ขนาด 129 เมกะวัตต์ และในส่วนของเอกชนทั้งรูปแบบลาร์ลอยนํ้าและโซลาร์รูฟท็อป 181 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายไฟฟ้า Smart Grid ผ่าน SCG Cleanergy Platform เชื่อมโยงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างผู้ประกอบการ โดยจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเข้าสู่ระบบสายส่งที่เชื่อมกับโรงงานและระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ผ่าน SCG Cleanergy Platform ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าและข้อมูลคาร์บอนเครดิต สำหรับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงงานได้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการพื้นที่ ภายในนิคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีการซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ Smart Grid ของเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่แล้ว 485 เมกะวัตต์

รวมถึงได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Rondo Energy สตาร์ตอัป จากสหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Thermal Energy Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แปลงพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมและพลังแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานความร้อนสะสมไว้ในฮีตแบตเตอรี่ จากนั้นสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงานหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า หรือใช้ในรูปไอนํ้าอุณหภูมิสูงสำหรับบางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นแห่งแรกของโลก ที่โรงงานท่าหลวง ซึ่งในปี 2567 ได้เริ่มผลิตส่วนประกอบของฮีดแบตเตอรี่ส่งออกให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาแล้ว

อีกทั้ง ตามร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) มีเป้าหมายผลิตพลังงานจากโครงข่ายไฟฟ้า Grid Modernization 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ประกาศโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน” ERC Sandbox”เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ได้เข้าร่วมผ่านการคัดเลือก 4 โครงการ รวมทั้งหมด 6.308 เมกะวัตต์ และได้ทำสัญญาความร่วมมือแบบ PPP ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ ทดสอบการจ่ายไฟฟ้า และซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จนประสบความสำเร็จ

ที่สำคัญ ยังมีแผนเข้าร่วมโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) เพื่อให้บริการพลังงานไฟฟ้าแก่บริษัทชั้นนำของโลกในอุตสาหกรรม Data Center ในปี 2568 อีกด้วย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,088 วันที่ 17 - 19 เมษายน พ.ศ. 2568