นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือส่งไปถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายข้อมูลข่าวสาร ในการขอสำเนาเอกสารหนังสือสัญญาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของเอกชน ซึ่งสังคมวิพากษ์วิจารณ์มาก ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าเอฟที (Ft) พุ่ง และทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ต้นเหตุมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแพงเกินไปหรือไม่
นายศรีสุวรรณ เผยต่อไปว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. ได้ ทำให้มีบริษัทเอกชนจำนวนมากประมูลขายไฟฟ้าให้ กฟผ. โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ซึ่งมีสัญญาซื้อขายกันแล้ว 12 บริษัท รวม 17 โรงไฟฟ้า มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 17,023.50 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่มีสัญญาซื้อขายกันรวม 50 โรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ มีการใช้ถ่านหินเพียง 4 โรงเท่านั้น มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 9,331.08 เมกะวัตต์
ที่ผ่านมา กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีมากกว่า 53,659 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้สูงสุดเมื่อปี 2565 มีเพียง 33,177.3 เมกะวัตต์ ทำให้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่า 60% เกิดเสียงครหาขึ้นว่าสัญญาที่ กฟผ. ทำไว้กับโรงไฟฟ้าเอกชนแต่ละรายมีเงื่อนไขที่เรียกว่าค่าพร้อมจ่ายอยู่ด้วย เพราะแม้จะหยุดเดินเครื่องไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. ก็ต้องจ่ายเงินให้เอกชนตามสัญญาตลอดไปจนหมดอายุสัญญา และเมื่อหมดอายุสัญญาแล้วจะมีการผูกมัดให้รัฐซื้อต่อหรือไม่ด้วย
ทั้งนี้ กฟผ. อ้างมาโดยตลอดว่ามีภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท จากต้นทุนการผลิตที่ต้องซื้อก๊าซ LNG จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าในราคาสูง ซึ่งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องใช้ก๊าซมีถึง 11 โรง มีปริมาณการผลิตจำนวน 9,086 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อก๊าซมีราคาแพง ทำไม กฟผ. ยังต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศในราคาที่แพงมาผลิตอีก ทั้งๆ ที่มีโรงไฟฟ้าของเอกชนที่ทำสัญญาการผลิตป้อนให้มากถึง 67 โรง
ส่วนเอกชนจะไปซื้อหาก๊าซมาผลิตไฟฟ้าจากไหนก็เป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องรับภาระเอง ไม่ใช่หน้าที่ กฟผ. ต้องไปแบกรับภาระ และโรงไฟฟ้าของเอกชนมีปริมาณการผลิตมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซของ กฟผ. พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าหรือการซื้อขายก๊าซดังกล่าวมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ด้วย
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า หาก กฟผ. เปิดเผยสัญญาทั้งหมดที่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน เชื่อว่าจะพบข้อพิรุธมากมายที่จะได้นำมาเปิดเผยให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับทราบ และหากไม่ยอมเปิดเผยก็คงต้องสู้กันถึงศาลปกครองแน่นอน