อากาศร้อนจัด แอร์ทำงานหนัก ต้นเหตุค่าไฟฟ้าพุ่ง !

10 พ.ค. 2566 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 05:59 น.

ไฟฟ้าในรอบบิลเดือนมีนาคม 2566 ที่แต่ละครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าในรอบบิลเดือนเมษายน ก็จะปรับตัวสูงขึ้นอีก กำลังเป็นประเด็นร้อนไม่แพ้อุณหภูมิช่วงหน้าร้อน

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุอยู่ในเวลานี้ ที่แต่ละพรรคการเมืองได้หยิบยกปัญหาค่าไฟฟ้าแพง มาเป็นนโยบายการหาเสียงเรียกคะแนน ที่จะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าให้ถูกลงมา

หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตุถึงค่าไฟฟ้าแพงที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนนี้ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้า มีการแอบอนุมัติปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้าหรือไม่ จากที่เคยประกาศไว้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมประเภทบ้านอยู่อาศัยอยูที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยเป็นส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรหรือเอฟที 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งที่หน่วยการใช้ไฟฟ้าในเดือนมีนาคมก็ไม่ได้แตกต่างจากเดือนกุมภาพันธ์มากนัก หรือพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแทบไม่เปลี่ยนไปเลย

ร้อนถึง 3 การไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ต้องออกมาเคลียร์กับปัญหาค่าไฟฟ้าแพงดังกล่าว ว่า ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าเอฟทีในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เฉลี่ยยังอยู่ในอัตราเดิมที่กกพ.ประกาศ แต่ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากเดือนมีนาคมที่มีจำนวน 31 วัน มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 วัน และปัญหาหลักคืออุณหภูมิความร้อนในเดือนมีนาคมสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้แต่ละครัวเรือนหันมาใช้เครื่องปรับอากาศหรือแอร์กันมากขึ้น

อากาศร้อนจัด แอร์ทำงานหนัก ต้นเหตุค่าไฟฟ้าพุ่ง !

สะท้อนได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของกฟผ. (พีก) เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 30,213.20 เมกะวัตต์ เพิ่มสูงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 27,686.50เมกะวัตต์ และล่าสุดวันที่ 20 เมษายน 2566 ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 33,062 เมกกะวัตต์

เมื่อมาพิจารณาอุณหภูมิความร้อนเดือนมีนาคมก็สูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้การทำงานของอุปกรณ์ทำความเย็น ทั้งเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ใช้พลังงานหรือกินไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากคอมเพรสเซอร์ทำงานนานขึ้น เพื่อลดอุณหภูมิลงมาให้ได้ความเย็นที่ต้องตั้งไว้ หรืออุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้น ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศระบายความร้อนได้ยากขึ้น สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ให้เห็นถึงผลการทดสอบเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียูต่อชั่วโมงต่อวัตต์ ( BTU/hr/W ) ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟฟ้ามากที่สุดของครัวเรือน พบว่า ทุกอุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศจะลดลง และกินไฟเพิ่มขึ้น 3.07% เมื่อเทียบกับการเปิด-ปิดเป็นเวลาเดียวกันในอุณหภูมิ ที่ตํ่ากว่า

 ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยเป็นแบบก้าวหน้าหรือขั้นบันได จะจ่ายตามจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หรือจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นหน่วยหลังๆ สูงกว่าหน่วยแรกๆ โดย 150 หน่วยแรก อัตราค่าไฟฟ้าไม่รวมค่าเอฟทีและภาษีมูลค่าเพิ่มจะอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย เมื่อใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 250 หน่วยต่อไป คิดในอัตรา 4.2218 บาทต่อหน่วย และหาก ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 400 หน่วย คิดในอัตรา 4.4217 บาทต่อหน่วย

 ดังนั้น ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ที่มีจำนวนวันและจำนวนหน่วยที่ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการกินไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศสะท้อนออกมาเป็นบิลค่าไฟฟ้าในการเรียกเก็บจึงสูงขึ้นตามจำนวนหน่วยที่ใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น หรือ ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก อัตราการจ่ายค่าไฟฟ้าจะยิ่งสูงขึ้นตาม (Progressive Rate )และเมื่อนำหน่วยไฟฟ้ามาบวกด้วยค่าเอฟที และภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้ไฟฟ้าที่สูงมากขึ้น ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีและภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงตามด้วย

กฟผ.ได้ชี้แนะว่า หากจะให้ครัวเรือนจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง เพื่อควบคุมไม่ให้การใช้ไฟฟ้าเกินระดับขั้น บันไดที่ใช้ไฟฟ้าอยู่เดิม ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ติดตามและสังเกตการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง และลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น รวมทั้งล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ปรับอุณหภูมิแอร์เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 10% ติดตั้งม่านบังแดด, ฟิล์มกันความร้อน และฉนวนกันความร้อน เพื่อป้องกันความร้อนนเข้าสู่อาคาร

หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร้อนภายในห้องปรับอากาศ เช่น หม้อหุงข้าว ต้มนํ้า รีดผ้า เป็นต้น รวมถึงปิดหน้าต่าง และประตูให้สนิท เพื่อป้องกันอากาศร้อนเข้าสู่ ภายในอาคาร เพิ่มร่มเงาหรือติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันแดดไม่ให้กระทบกับคอยล์ร้อน (condenser) โดยตรง และไม่วางสิ่งกีดขวางการระบายความร้อนของ condenser เพื่อให้ระบายความร้อนได้สะดวก เป็นต้น หากปฏิบัติตามแนวทางนี้จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนลงไปได้พอสมควร

รวมถึงการรับมือกับอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติปรับลดค่าเอฟทีลง 7.08 สตางค์ต่อหน่วย จาก 98.27 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 91.19 สตางค์ต่อหน่วยก็ตาม แต่เมื่อสะท้อนมายังค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลงเพียง 2 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ดังนั้น การประหยัดพลังงาน ใช้เท่าที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ จึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้