thansettakij
"ร้อน" จัดดัน "ค่าพีค" ไฟฟ้าทำสถิติใหม่ทะลุ 34,000 เมกะวัตต์
energy

"ร้อน" จัดดัน "ค่าพีค" ไฟฟ้าทำสถิติใหม่ทะลุ 34,000 เมกะวัตต์

    "ร้อน" จัดดัน "ค่าพีค" ไฟฟ้าทำสถิติใหม่ทะลุ 34,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าค่าพีคเดิมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 65 เวลา 14.30 น. ที่ 33,177.30 เมกะวัตต์ หลังประชาชนกระหน่ำใช้ไฟเพื่อคลายร้อน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากสภาวะอากาศร้อนมากในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ช่วงเวลา 21.41 น. ได้เกิดสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า หรือ ค่าพีค (Peak) ใหม่ อยู่ที่ 34,826.50 เมกะวัตต์ สูงกว่า Peak เดิม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 14.30 น. ที่ 33,177.30 เมกะวัตต์ 

ทั้งนี้ จากสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4-7 พ.ค. 66 ส่งผลประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อคลายร้อน อีกทั้งเครื่องทำความเย็นประเภทต่างๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลมมีความต้องการใช้ปริมาณไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อทำความเย็นให้มากขึ้นตามภาวะอากาศร้อนจัด

สำนักงาน กกพ. ขอเประชาชนผู้ใช้ไฟร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 5 ป. ได้แก่ ปิดไฟที่ไม่ใช้ หรือไม่จำเป็น ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กไฟเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED และปลูกต้นไม้เพื่อเป็นร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิให้กับตัวบ้าน ร่วมกันประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดภาระค่าไฟฟ้า 

นอกจากนี้ ขอให้มีการตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในบิลค่าไฟรอบเดือนพฤษภาคม 2566 ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ด้วย เพราะค่าไฟที่เพิ่มอาจจะเป็นได้ทั้งจากการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผิดปกติ 
 

และอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากสภาวะอากาศทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าเดิมได้และส่งผลค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

ร้อนจัดดันค่าพีคไฟฟ้าทำสถิติใหม่ทะลุ 34,000 เมกะวัตต์ ร้อนจัดดันค่าพีคไฟฟ้าทำสถิติใหม่ทะลุ 34,000 เมกะวัตต์ซึ่งปัจจุบันสำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่การเรียกเก็ค่าไฟฟ้าเป็นแบบอัตราค่าไฟฟ้าอัตราก้าวหน้าคือ  ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนหน่วยมากขึ้นก็จะถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตราที่แพงขึ้นด้วย เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของไทยจะผลิตจากต้นทุนที่มีราคาถูกก่อน 

เมื่อการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นจะมีการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น แม้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 จะไม่ได้ปรับขึ้นซึ่งเรียกเก็บในอัตราค่าไฟฟ้า 4.70 บาทต่อหน่วยก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ขออนุมัติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อใช้เงินงบประมาณในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม  2566 (4 เดือน) 
 

โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลดแบบขั้นบันได กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566 ดังนี้ 

  • ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย
  • ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท